Thursday, August 20, 2009

ปกหน้า



คำนำ

การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษาตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมของโลก ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศ จะบรรจุหลักสูตรรายวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรไว้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาทุกคนมีความรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเนื้อหาในรายวิชานี้ต้องมีการปรับปรุงให้ทันกับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา การศึกษาผ่านระบบอินเทอร์เนต มีส่วนช่วยให้นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์ผู้สอนได้อย่างอิสระ เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ดังนั้นสื่อการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เนตนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจในเนื้อหารายวิชาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากร ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระ มีความตระหนักทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการรักษาสมดุลทางธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สลักจิต พุกจรูญ


ที่มา: gotoknow.org/file/yanuprom/preview/nature.jpg

สิ่งแวดล้อม

ความหมายของสิ่งแวดล้อม
จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งทวีความรุนแรงในด้านของความเสื่อมโทรมร่อยหรอ และอาจหมดไป ในที่สุด น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความใส่ใจในเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งแวดล้อมได้ ทั้งยังมีความต้องการใช้อยู่ตลอดเวลาทั้งในการอุปโภคและบริโภคเพื่อการตอบสนองทั้งทางร่างกายและจิตใจ การรวมกลุ่มของมนุษย์ยิ่งเพิ่มความต้องการและปริมาณการใช้สิ่งแวดล้อมสูงขึ้น และมนุษย์ย่อมตระหนักดีว่าสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเสื่อมโทรมและหมดสิ้นไปในอนาคตอันใกล้นี้ หากขาดความใส่ใจและป้องกันที่ดีพอของมนุษย์ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้ให้คำนิยามของสิ่งแวดล้อม หมายความถึงสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพ และชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ได้ทำขึ้น
“สิ่ง” หมายถึง ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น มองเห็นได้และมองไม่เห็นด้วยตา แต่หากตีความว่า “สิ่ง” น่าจะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ มีรูปร่างลักษณะชัดเจน อาจทำให้ความหมายแคบลง ทั้งที่สิ่งในที่นี้จะเป็นอะไรก็ได้ ทั้งของแข็ง ของเหลว ก๊าซ ความเชื่อ กฎหมาย วัฒนธรรม ฯลฯ “รอบตัวเรา” ก็คือ อะไรก็ได้ ที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อจะกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ สิ่งนั้น เช่น ถ้ากล่าวถึงสิ่งแวดล้อมป่าไม้ ตัวเราอาจเป็นป่าไม้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราที่เป็นป่าไม้ก็คือสังคมพืชในป่า สัตว์ป่า แหล่งน้ำ ดิน ฯลฯ


ประเภทของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทคือ
1) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (Natural Environment)
ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ น้ำ อากาศ ดิน สัตว์ป่า มนุษย์ น้ำ แร่ธาตุ น้ำมัน ฯลฯ ส่วนมากมักอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อสิ่งหนึ่งถูกทำลายจะมีผลถึงสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง แบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการดำรงชีวิตคือ
1.1) สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biotic-Environment) ได้แก่ คน สัตว์ พืช ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิตเพื่อการดำรงชีวิต
1.2) สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ได้แก่ อากาศ แร่ธาตุ น้ำ แสงแดด ดิน ลม ฯลฯ ส่วนมากเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้
2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Environment)
คือสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน รถยนต์ ศาสนา กฎหมาย ประเพณี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาเพื่อตอนสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมมองเห็นได้ และสิ่งที่มองไม่เห็น จึงอาจแบ่งออกได้อีกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) คือสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถมองเห็นเป็นรูปทรงได้ เช่น อาคารเรียน โรงแรม เป็นต้น
2.2) สิ่งแวดล้อมนามธรรม หรือสิ่งแวดล้อมทางสังคม (Abstract หรือ Social Environment) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นแต่ไม่ใช่วัตถุมีรูปร่าง อาศัยจินตนาการใช้ความคิด และนำมาแสดงออกเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้น จึงจะเห็นเด่นชัดขึ้น เช่น กฎหมาย ศาสนา เป็นต้น

ระบบนิเวศ

ที่มา: http://www.wcd13phrae.com

1. ความสำคัญของนิเวศวิทยา
2. ความหมายและประเภทของระบบนิเวศ
3. แนวคิดพื้นฐานทางนิเวศวิทยา
4. โครงสร้างและหน้าที่ในระบบนิเวศ

ทรัพยากรธรรมชาติ

ที่มา: http://www.geocities.com/kishan_nie/photos/butterfly1.jpg
ความหมายและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น ป่าไม้ให้ประโยชน์ในการนำมาทำที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม เชื้อเพลิง น้ำให้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร สัตว์ป่าให้ประโยชน์ในแง่การพักผ่อน นันทนาการ คุณค่าในการศึกษาหาความรู้ เป็นอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีธรรมยากรธรรมชาติอีกหลากหลายที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งหากมองว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็นำมาจากวัตถุดิบหรือต้นทุนทางธรรมชาติอาจให้ความหมายว่าทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คือกลุ่มเดียวกัน ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources)
ความหมายและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ก็คือทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นทรัพยากร ธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมมักเป็นที่เข้าใจว่าเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมหมายรวมถึง สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็คือทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ใด ๆ ก็ตามแม้จะไม่มีประโยชน์ต่อมนุษย์อดีตและปัจจุบัน ก็อาจเป็นประโยชน์ในอนาคตได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นความหมายของคำที่ใช้ จึงขึ้นกับว่าผู้ใช้ต้องการเน้นหรือพิจารณาในแง่ใดของการกล่าวถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มนุษย์เองก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติชนิดหนึ่งเช่นกันและย่อมขาดการพึ่งพิงทรัพยากรชนิดอื่นไม่ได้ สภาวะธรรมชาติจึงมีทรัพยากรหลายสิ่งอยู่ร่วมกันเสมอโดยต้องมี ชนิด ปริมาณ สัดส่วน การกระจาย ที่เหมาะสมมีการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้เข้าสู่ภาวะ สมดุลธรรมชาติ ทรัพยากรต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ต่อกันและพึ่งพากันเสมอ เมื่อสิ่งหนึ่งถูกกระทบหรือทำลายจึงเชื่อมโยงถึงสิ่งที่อยู่รอบข้างด้วย มีนักวิชาการกล่าวไว้ถึงการขาดแคลนทรัพยากรว่า“แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายให้ประชาชาติได้ใช้อยู่อย่างเพียงพอก็ตาม แต่ถ้าการใช้นั้นเป็นไปอย่างฟุ่มเฟือยไม่มีแผนการแล้ว สักวันหนึ่งในอนาคตจะเกิดปัญหาการขาดแคลนได้ เพราะทรัพยากรร่อยหรอลงไปจากสาเหตุของการใช้อย่างไม่ประหยัด ไม่ระมัดระวัง หรือไม่เป็นไปตามความจำเป็น หรืออาจมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นการลดการเพิ่มพูน มีบางสิ่งบางอย่างถูกทำลายจนสูญพันธุ์
ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
ในโลกนี้มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายทั้งในอากาศ บนผิวโลก ใต้ผิวโลก มีสภาพทั้งของแข็ง ของเหลว ก๊าซ บางชนิดมีการเจริญเติบโตได้ บางชนิดไม่เติบโตแต่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เกิดการผุพังสลายไป นักอนุรักษ์วิทยาได้แบ่งประเภทของทรัพยากรธรรมชาติไว้ 3 ประเภทคือ
1) ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น (Non-Exhausting Natural Resources) หรือทรัพยากรธรรมชาติที่มีใช้ตลอด (Inexhuastible Natural Resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ บางชนิดมนุษย์ขาดเป็นเวลานานได้ บางชนิดขาดไม่ได้แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจถึงตายได้ ทรัพยากรดังกล่าวได้แก่ก) อากาศ มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในโลก จำเป็นและสำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตทุกชนิดข) น้ำ (ในวัฏจักร) หมายถึง น้ำในลักษณะการเก็บน้ำแล้วแปรสภาพเป็นน้ำไหลบ่า น้ำท่า น้ำในลำน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำขัง และน้ำในมหาสมุทร มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต มีการหมุนเวียน ไม่จบสิ้น โดยทั่วไปมีปริมาณคงที่ในแต่ละแห่งของแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรแสงอาทิตย์ ดิน ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น
2) ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ (Replaceable or Renewable Natural Resources) เป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ในการดำรงชีพเพื่อตอบสนองปัจจัยสี่และความสะดวกสบาย เมื่อใช้แล้วสามารถเกิดทดแทนขึ้นได้ ซึ่งการทดแทนนั้นอาจใช้ระยะเวลาสั้นหรือยาวนานไม่เท่ากัน ทรัพยากรดังกล่าวได้แก่
ก) น้ำที่ใช้ได้ หมายถึงน้ำในที่ใดที่หนึ่งเมื่อใช้หมดแล้ว จะมีการทดแทนได้ด้วยฝนที่ตกตามปกติ ในแต่ละแห่งจะมีฝนตกเกือบเท่า ๆ กันในแต่ละปี นอกจากเกิดความแห้งแล้งผิดปกติเท่านั้น
ข) ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้อาหารเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ซึ่งกำเนิดจากพื้นดิน ปัจจัยที่ทำให้เกิดดิน คือ หิน อากาศ พืช ระยะเวลา ลักษณะภูมิประเทศ การทดแทนต้องใช้ระยะเวลานานนอกจากนี้ยังมีทรัพยากรชนิดอื่นอีก เช่น ทรัพยากรประมง ทรัพยากรเกษตร (พืชผัก เนื้อสัตว์) พืช สัตว์ป่า ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
3) ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Exhausting Natural Resources) หรือทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ (Irreplaceable Natural Resources) เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถจะทำมาทดแทนได้เมื่อใช้หมดไป เช่น แร่ โลหะ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวจำเป็นมากต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกจากนี้พื้นที่ในลักษณะธรรมชาติ (Land in Natural Condition) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ เพราะเมื่อถูกทำลายลงแล้ว ไม่สามารถทำให้เหมือนสภาพเดิมได้ทั้งในส่วนประกอบต่าง ๆ และทัศนียภาพ
หากจำแนกทรัพยากรหลักที่มนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นประจำในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อโครงสร้างและหน้าที่ในระบบนิเวศ อาจจำแนกเป็น
ที่มา: www.ertc.deqp.go.th

ทรัพยากรน้ำ น้ำเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดไปมีหมุนเวียนในวัฏจักร เป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม มนุษย์ใช้สอยน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน ชำระล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร เป็นปัจจัยในขบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม นอกจากนี้ ความสำคัญของน้ำยังใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การพักผ่อนหย่อนใจ การประมง เพื่อเป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์และพืชน้ำ เป็นตัวรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ก๊าซต่าง ๆ ในบรรยากาศ เป็นต้น



ที่มา: http://www.kasetcity.com

ทรัพยากรดิน ดินเป็นทรัพยากรที่มนุษย์มีความคุ้นเคยมากที่สุด และ มความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด จะพึ่งพาอาศัยดิน เพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ดินจึงมีความสำคัญในด้านการเกษตรกรรม เป็นแหล่งเพาะปลูกเพื่อสร้างปัจจัยสี่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในการสร้างบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นแหล่งสะสมและอาศัยอยู่ของทรัพยากรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ แหล่งน้ำ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สำหรับในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์ ที่ดินแตกต่างกันไปในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะที่ดินเป็นสำคัญ


ที่มา: http://gotoknow.org


ทรัพยากรป่าไม้ มีความสำคัญมากที่ได้ให้ประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะประโยชน์ทางอ้อมนับว่าสำคัญมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้ได้ถูกทำลายลงไปมากจากการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในด้านประโยชน์ทางตรง มนุษย์ใช้ป่าไม้ในการผลิตปัจจัยสี่ ที่มีความ จำเป็นต่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะนำไปสร้างที่อยู่อาศัย เป็นอาหาร ยารักษาโรคและเครื่องนุ่งห่ม ในส่วนประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในบรรยากาศ ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้น บรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดิน บรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ)

ที่มา: http://imagecache5.art.com


ทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มานานแล้วในอดีต แม้ว่ามนุษย์จะเจริญขึ้นและมีอาชีพใหม่ปรากฏขึ้นมา แต่ความสำคัญของสัตว์ป่าก็มิได้ลดน้อยถอยลงไปแต่อย่างใด ความสำคัญของสัตว์ป่า ได้แก่ ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ในส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ป่ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ด้านวิชาการสัตว์ป่านำมาทดลองด้านวิทยาศาสตร์ ค้นคว้า วิจัย นำผลงานมาประยุกต์ใช้กับมนุษย์ ด้านการรักษาความงาม ความเพลิดเพลิน คุณค่าทางด้านจิตใจ โดยสัตว์ป่าทำให้ธรรมชาติ ดูมีชีวิตชีวาขึ้น ส่งผลให้มนุษย์ได้ ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจจากความจำเจความเกลียดและ เบื่อหน่ายจากธุรกิจ การงาน ทั้งยังมีคุณค่าทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเห็นได้จากหลายประเทศได้ให้ของขวัญแก่กันโดยใช้สัตว์ป่า

ที่มา: http://province.prd.go.th

ทรัพยากรประมง ในทางประมง ทรัพยากรด้านนี้ ความสำคัญต่อมนุษย์หลัก ๆ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ในด้านเป็นอาหารทั้งโดยตรง หรือการแปรรูป จากสัตว์น้ำจืดและน้ำเค็ม ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์ด้านค้าขาย จำหน่ายภายในและภายนอกประเทศ นำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ ทั้งยังมีคุณค่าใช้เป็นยา พื้นบ้าน เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ ให้ความเพลิดเพลิน และความสวยงาม ซึ่งมีผลในด้านจิตใจของมนุษย์อีกด้วย


ที่มา: www.grandprixgroup.com

ทรัพยากรพลังงาน พลังงานมีความสำคัญอย่างมากสำหรับมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงมนุษย์ได้พลังงานจากแสงแดด จากอาหารเพื่อสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย อันหมายถึง การดำรงชีพ การเจริญเติบโตของชีวิต ส่วนทางอ้อมมนุษย์ใช้พลังงานเป็นตัวแทนในการช่วยเหลือการทำงานต่าง ๆ เพื่อความเป็นอยู่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้ใช้พลังงานในรูปต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ใช้พลังงานในรูปของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รองลงมาเป็นพลังงานน้ำ ชานอ้อย ถ่านหิน และไม้ฟืนตามลำดับ
ที่มา: http://school.obec.go.th/

ทรัพยากรแร่ แร่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจแล้วแร่เป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ถ่านหิน ลิกไนต์ ใช้ในการผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร เครื่องยนต์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ ในเชิงนิเวศวิทยา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแร่อโลหะ เช่น โพแทส เกลือหิน ที่นำมาผลิต ปุ๋ย เพิ่มธาตุอาหารในพืช อันเป็นตัวสนับสนุนการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์และการมีชีวิตอยู่ของผู้ผลิต

ที่มา: http://www.nowthemagazine.net/


ทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์เป็นทรัพยากรประเภทที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและทดแทนใหม่ได้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้เช่นเดียวกันกับทรัพยากรอื่น ๆ จึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีชีวิต อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศ เนื่องจากมีสมองและพัฒนาความคิดนำมาสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในทางเสริมสร้างและทำลาย คุณค่าหรือความสำคัญของมนุษย์ ได้แก่ ความสามารถในการนำทรัพยากรอื่น ๆ มาใช้อย่างชาญฉลาด การศึกษาดี มีวัฒนธรรมที่เหมาะสม สุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็จะช่วยพัฒนาประทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: http://klang.cgd.go.th

หลักการและวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Conservation) หมายถึงการใช้สิ่งแวดล้อม อย่างมีเหตุผล เพื่ออำนวยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไปแก่มนุษย์ โดยมีแนวความคิดที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดผลอยู่ 6 ประการคือ
1) ต้องมีความรู้ในการที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่จะให้ผลแก่มนุษย์ทั้งที่เป็นประโยชน์และโทษ และคำนึงถึงเรื่องความสูญเปล่าในการจะนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้
2) รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นและหายากด้วยความระมัดระวัง ตระหนักเสมอ ว่าการใช้ทรัพยากรมากเกินไปจะเป็นการไม่ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม ฉะนั้นต้องทำให้อยู่ในสภาพเพิ่มพูนทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจ
3) รักษาทรัพยากรที่ทดแทนได้ให้มีสภาพเพิ่มพูนเท่ากับอัตราที่ต้องการใช้เป็นอย่าง น้อย
4) ประมาณอัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรได้ พิจารณาความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ 5) ปรับปรุงวิธีการใหม่ ๆ ในการผลิตและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและพยายามค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ ทดแทนการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชากร
6) ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อเข้าใจถึงความสำคัญในการรักษาสมดุลธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อการทำให้สิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพที่ดี โดยปรับความรู้ที่จะเผยแพร่ให้เหมาะแก่วัย คุณวุฒิ บุคคล สถานที่หรือท้องถิ่น ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันจะเป็นหนทางนำไปสู่อนาคตที่คาดหวังว่ามนุย์จะได้อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้

หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1) การอนุรักษ์ (Conservation) หมายถึง การเก็บ สงวน รักษา ซ่อมแซม ปรับปรุง และการใช้ต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้ออำนวยให้ประโยชน์อย่างมีคุณภาพ สูงสุดแก่มนุษย์ในการตอบสนองความต้องการได้ตลอดไป ในระยะแรก การอนุรักษ์ใช้ในความหมายของการสงวน (To Preserve) คือการเก็บรักษาของที่หายากเอาไว้ ถ้านำมาใช้อาจเกิดผลเสียหายได้ และการป้องกันการสูญเสีย (Prevent Waste) คือการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือ การนำมาใช้ให้พอเหมาะกับความต้องการไม่ให้มีส่วนสูญเสียไปเปล่า ๆ หรือใช้อย่างคุ้มค่า ต่อมาเมื่อทรัพยากรที่มีอยู่มากร่อยหรอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกามีการใช้ทรัพยากรมากจนเกิดปัญหา จึงมีการพัฒนาหาทางเพิ่มทรัพยากรที่มีน้อยให้เพิ่มพูนหรือฟื้นฟูทรัพยากรก่อนที่จะนำไปใช้ต่อในอนาคต ถ้ามีทรัพยากรอยู่แล้วก็ต้องหาทางให้มีใช้ตลอดไป (To Increase and Sustain the Supply) ดังนั้นพอสรุปความหมายสั้น ๆ ได้ว่า “ การอนุรักษ์ เป็นการใช้ตามความต้องการและประหยัดไว้เพื่อใช้ในอนาคต ” (Using for Immediate Needs and Saving for Future use)
2) ความคิดรวบยอดของการอนุรักษ์ (Concept of Conservation)การจะบรรลุเป้าหมายในการมีทรัพยากรธรรมชาติใช้ได้ตลอดไป มีหลักการทางอนุรักษ์วิทยาดังนี้
- ใช้อย่างฉลาด (Wise use) พิจารณาถึงผลได้ผลเสียก่อนนำทรัพยากรไปใช้ โดยคำนึงถึงชนิดหรือประเภท ปริมาณ ความขาดแคลนหรือหายากในอนาคตและหลักทางเศรษฐศาสตร์คือต้นทุนทางธรรมชาติและความคุ้มค่าในการนำทรัพยากรไปใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีการสูญเปล่าน้อยที่สุด ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
- ประหยัดและสงวนของที่หายาก (Saving) ทรัพยากรใดที่มีอยู่น้อยหรือหายากต้องประหยัดไว้เพื่อไม่ให้สูญไป โดยหาสิ่งอื่นมาใช้ทดแทน ส่วนที่พอจะมีใช้ได้ก็ไม่ควรฟุ่มเฟือย
- ซ่อมแซมปรับปรุงหาวิธีการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น (Mending) ทรัพยากรที่เสี่ยงต่อการสูญเปล่าหรือหมดไปเนื่องจากมีสภาพเสื่อมโทรม ควรมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งในส่วนชนิด ปริมาณ สัดส่วน การกระจาย เพื่อให้มีทรัพยากรใช้ได้ตลอดไป

วิธีการรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วิธีการอนุรักษ์ มีขั้นตอนดังนี้
1) กำจัดการใช้ที่ไม่จำเป็นหรือมีแนวโน้มที่จะสูญเปล่า
2) ดูแลรักษาทรัพยากรที่หายากหรือมีน้อย ให้อยู่ในสภาวะที่มากพอเสียก่อนจึงจะให้ใช้ทรัพยากรนั้น ๆ ได้
3) ผู้ใช้ทรัพยากรทั้งหลายควรตระหนักอยู่เสมอว่า ทรัพยากรแต่ละอย่างจะมีความสัมพันธ์ต่อกันยากที่จะแยกจากกันได้
4) การเพิ่มผลผลิตของพื้นที่แต่ละแห่งควรจะต้องทำ
5) ต้องพยายามอำนวยให้สภาวะต่าง ๆ ดีขึ้น
ทั้ง 5 ประการนี้เป็นสิ่งที่ควรจะได้กระทำ เพื่อให้การอนุรักษ์ได้ผลตามเจตนารมย์ โดยไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์สุดยอดของการอนุรักษ์คือ ต้องทำให้โลกนี้ดี (Rich) ให้ผลผลิตเหมือนเมื่อพบครั้งแรก (Productive) พยายามอย่าให้โลกทรุดโทรมหรือขาดแคลนทรัพยากร ตามคำกล่าวสนับสนุนที่ว่า “ ชาติที่จะเจริญรุ่งเรืองนั้นต้องรู้ว่าจะผลิตและสร้างทรัพยากรอย่างไรโดยปราศจากการทำลาย การอนุรักษ์จึงเป็นหัวใจของการพัฒนา ”
การที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา อีกทั้งต้องมีความสนใจต่อการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งในด้านการปฏิบัติและการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการขวนขวายหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม เพื่อการคงไว้ซึ่งทรัพยากร ทั้งนี้การมีความรู้เรื่องการอนุรักษ์จะช่วยให้รู้จักการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ โดยหลีกเลี่ยงการสูญเปล่า (Waste) และการทำลาย การสูญเปล่าตามหลักอนุรักษวิทยานั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ ขั้นผลิตกรรม (Production) และขั้นบริโภค (Consumption) แยกได้เป็น
1) การสูญเปล่าแบบสมบูรณ์ (Absolute Waste) ได้แก่การสูญเปล่าที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถกลับคืน เช่น การพังทลายของดินจากทั้งลมและน้ำ
2) การสูญเปล่าแบบเพิ่มพูน (Waste Plus) เป็นขบวนการสูญเปล่าที่รุนแรงคือนอกจากสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ แบบสมบูรณ์แล้ว ยังมีผลทำให้สิ่งหรือขบวนการอื่น ๆ สูญเปล่าไปด้วย เช่น การเกิดไฟฟ้า ทำลายต้นไม้ในป่าและยังสูญเสียปริมาณสัตว์ป่า สูญเสียดินและอื่น ๆ
3) การสูญเปล่าแบบสัมพันธ์ (Relative Waste) ได้แก่ การสูญเสียที่เกิดจาก การแสวงหาสิ่งหนึ่ง แต่ทำให้เกิดผลเสียอีกอย่างหนึ่ง เช่น การทำเหมืองแร่ อาจทำให้เกิดการทำลายพืชพรรณธรรมชาติ ทำให้น้ำในลำธารขุ่นการเก็บของป่าอาจต้องทำลายหรือตัดฟันต้นไม้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตจากป่า อาทิ น้ำผึ้ง ยาสมุนไพร เป็นต้น
4) การสูญเปล่าแบบตั้งใจ (Organized Waste) ได้แก่การทำให้เกิดการสูญเปล่าโดยตั้งใจจะจัดการกับบางอย่าง เพื่อรักษาราคาหรือค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรธรรมชาติ หรืออุตสาหกรรมไว้ให้ดีที่สุด เช่น การที่ประเทศบราซิลยอมทิ้งกาแฟลงในทะเลเพราะผลิตมากเกินไป จำเป็นต้องรักษาราคากาแฟให้เป็นไปตามต้องการ การเผาใบยาสูบทิ้งเพราะผลิตมากเกินไป การนำแอ๊ปเปิ้ลเทบนถนนให้รถบรรทุกบดเพื่อทำลาย เนื่องจากมีผลผลิตล้นตลาด
หลักการและวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1) ทรัพยากรของป่าไม้
1.1) ความหมายของป่าไม้ ป่าไม้ตามพรบ. ป่าไม้ หมายถึง ที่ดินที่ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้มาซึ่งกรรมสิทธิครอบครองโดยกฎหมายที่ดิน นักวิชาการป่าไม้ให้คำนิยามว่า “ ป่า ” คือ สังคมของพืชที่อยู่รมกันเป็นกลุ่มมีเอกลักษณ์ทางโครงสร้างและ พฤติกรรมเฉพาะ “ ป่าไม้ ” คือ กลุ่มของพืชหรือต้นไม้ที่อยู่รวมกัน มีลักษณ์นิเวศวิทยาคล้าย ๆ กัน ต่างกันไปตามชนิดของป่า
ป่าในประเทศไทย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 ประเภท คือ
- ป่าผลัดใบ ( Deciduous Forest ) ป่าที่สำคัญ มี เต็ง+รัง (ป่าแดง) และ ป่าเบญจพรรณ (ป่าผสมผลัดใบ)
- ป่าไม่ผลัดใบ ( Evergreen Forest ) ป่าที่สำคัญมี ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าชายเลน ขึ้นกระจายทั่วประเทศ ปัจจุบันถูกทำลายมาก
1.2) ประโยชน์ของป่าไม้
1) เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า
2) ป้องกันการพังทลายของดิน
3) ฝนตกต้องตามฤดูกาล
4) ป้องกันน้ำท่วม
5) เป็นเชื้อเพลิง
6) เป็นแหล่งสมุนไพร
7) เป็นวัสดุก่อสร้าง
8) เป็นแหล่งนันทนาการ
9) ควบคุมอุณหภูมิของอากาศ
10) ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำกระดาษ
11) เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ
12) เป็นที่หลบซ่อนของทหารเพื่อป้องกันประเทศ
1.3) สภาพปัญหาและสาเหตุ
- ปัญหาภายนอก ประชาชนต้องการทำกิน
- ปัญหาภายใน ปิดป่าแต่มีการลักลอบ มีความต้องาการใช้ไม้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไฟไหม้ป่า ความเสื่อมโทรมของป่า จากการถูกทำลายทำให้ป่าไม้ฟื้นตัวไม่ทัน
- ปัญหาการผลิต ต้องตัดเฉพาะไม้ที่ได้ขนาด ตัดเฉพาะปริมาณส่วนเพิ่มพูน
- แต่ความเป็นจริง มีการตัดไม้มากกว่าปริมาณส่วนเพิ่มพูนหลายเท่าตัว ทำให้ป่าเสื่อมโทรมและถูกยึดครองไปทำกิจกรรมอื่น ผลผลิตของป่าไม้ = ส่วนเพิ่มพูนของป่า ( Forest Increment) เป็นส่วนที่เติบโตงอกเงยเป็นรายปี
1.4) แนวทางการอนุรักษ์
1) ควบคุมการสัมปทานป่า ให้เฉพาะที่เหมาะสมจริง ๆ ห้ามทำไม้ในป่าเสื่อมโทรมเด็ดขาด จนกว่าป่าจะฟื้นสภาพ
2) ปลูกป่าเพิ่มเติม โดยพิจารณาตามหลักวิชาการ
3) บำรุงป่าธรรมชาติที่ทรุดโทรม ให้ฟื้นคืนสภาพ
4) มีการป้องกันการลักลอบตัดไม้
5) พัฒนาพื้นที่ป่าควบคู่กับการพัฒนาชนบท (กรณีต้องการพื้นที่ป่าไม้ให้ประชาชน)



มลพิษสิ่งแวดล้อม

ความหมายของมลพิษสิ่งแวดล้อม
มลพิษที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อมนุษย์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความหมายอาจอธิบายได้ 2 ลักษณะคือ
1) มลพิษสิ่งแวดล้อมในทางวิทยาศาสตร์หรือทางชีวภาพ หมายถึง “ สภาพแวดล้อมที่มีมลสาร (pollutants) ที่เป็นพิษจนมีผลต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ” หรือ “ ภาวะแวดล้อมที่มีสิ่งแวดล้อมบางอย่างที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่มีมากเกินขีดจำกัดจนมีพิษภัยต่อมนุษย์ พืช และสัตว์ ” (carring capacity) และ หมายถึง “ ภาวะแวดล้อมที่มีความไม่สมดุลของทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดมีน้อยเพราะใช้มากเกินไป บางชนิดมีมาก ”
2) มลพิษสิ่งแวดล้อมทางสังคม หมายถึง “ ความผิดปกติในบุคคลหรือกลุ่มของบุคคลในสังคมนั้น “ จนทำให้สภาพสังคมเสื่อมสภาพไปจากเดิม หรือ “ ภาวะแวดล้อมทางสังคมที่ตัวควบคุมทางสังคม (Social regulators) ขาดประสิทธิภาพหรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สภาพสังคมมีแต่ปัญหา ไม่น่าอยู่อาศัย ที่มา: http://www.understandingplanetearth.in

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ . ศ . 2535 อธิบายเพิ่มเติมไว้ดังนี้
1) ภาวะมลพิษหมายถึงสภาวะที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หรือปนเปื้อนโดยมลพิษทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมลง เช่นมลพิษ ทางน้ำ มลพิษทางดิน มลพิษทางอากาศ
2) แหล่งกำเนิดมลพิษ หมายถึง ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้าง สถานที่ประกอบกิจการ ยานพาหนะ หรือสิ่งอื่นใดอันเป็นแหล่งที่มาของมลพิษ
3) ของเสีย หมายถึง ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร วัตถุอันตรายต่าง ๆ ที่ถูกปล่อยทิ้งหรือมาจากแหล่งกำเนิดพิษ รวมถึง กาก ตะกอน สิ่งตกค้าง ที่อยู่ในสภาพของแข็งของเหลวหรือก๊าซ
4) น้ำเสีย (Wastewater) หมายถึง ของเสียที่อยู่ในสภาพของเหลว รวมทั้งมลสารที่ปะปนหรือปนเปื้อนอยู่ในของเหลว ส่วนน้ำทิ้ง (Effluent) คือน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วและ / หรือไม่ได้รับการบำบัดซึ่งถูกระบายสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ
5) อากาศเสีย หมายถึง ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสียกลิ่นควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละอองเถ้าถ่านหรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดเบาสามารถรวมตัวอยู่ในบรรยากาศได้
6) วัตถุอันตราย (Hazardous Waste) หมายถึง วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ สารออกซิไ ดซ์ สารเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่กำเนิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนเปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง วัตถุอื่นทั้งเคมีภัณฑ์และสิ่งอื่นที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม
7) เหตุรำคาญ หมายถึง เหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
8) โรงงานอุตสาหกรรม หมายถึง โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
9) อาคาร หมายถึง อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
10) ยานพาหนะ หมายถึง รถยนต์ หรือจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เรือ ตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย และอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยอากาศยาน อบข่ายของมลพิษสิ่งแวดล้อม

ขอบข่ายของมลพิษสิ่งแวดล้อมขึ้นกับองค์ประกอบหลักของทรัพยากรเป็นสำคัญ ( ในระบบสิ่งแวดล้อม ) มลพิษที่เกิดอาจมีทางตรงหรือทางอ้อม เป็นของแข็ง ของเหลว ก๊าซ หรือรังสี ซึ่งเกิดขึ้นกับ ดิน น้ำ อากาศ ทัศนียภาพ ฯลฯ ทั้งนี้สถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยซึ่งมีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ติดตามและรายงานผล 10 ประเด็น ได้แก่ มลพิษทางอากาศ เสียง คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง มูลฝอย สารอันตราย ของเสียอันตราย การใช้ประโยชน์จากของเสีย เรื่องราวร้องทุกข์และการบริหารการจัดการมลพิษ พบว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงโดย สวล . มก . ได้รวบรวมการเกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมพอสรุปได้ดังนี้ 1) การใช้เทคโนโลยีที่ด้อยประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อมลพิษสิ่งแวดล้อม กล่าวคือการใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสมกับการใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตเป็นสิ่งต่าง ๆ ทำให้เกิดมลพิษเกินค่ามาตรฐานและยังผลต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากการผลิตไม่สามารถให้ผลแบบยั่งยืนและกลับให้ผลผลิตต่ำ แต่ต้องลงทุนสูงเพราะสภาพธรรมชาติถูกทำลายจากการมีมลพิษเจือปนมาก เกินไป การเสื่อมสภาพของเทคโนโลยี ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ อาจทำให้เกิดการใช้ผิดประเภท เกิดผลเสียตามมา
2)การใช้ทรัพยากรไม่ถูกหลักวิชาการคือมีการใช้เกินกว่ากำลังผลิตตามธรรมชาติของทรัพยากรนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบทั้งด้านโครงสร้างและหน้าที่การทำงาน จนไม่สามารถเกิดทดแทนได้ทัน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดของเสียและมลพิษเข้าสู่ระบบ
3) มาตรการควบคุมไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมักละเลยการปฏิบัติและขาดการติดตามตรวจสอบ
4) ความกดดันทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะความต้องการพัฒนาประเทศเน้นเศรษฐกิจสังคมโดยขาดความสนใจต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาไม่ยั่งยืน กลับก่อมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมา
5) อุบัติเหตุจากการดำเนินการ เช่น เขื่อนพัง โรงงานอุตสาหกรรมเช่นโรงงานลำไยระเบิดที่เชียงใหม่ เป็นต้น มีส่วนอย่างมากในการสร้างปัญหาและมลพิษสิ่งแวดล้อม
6) ภัยธรรมชาติ เช่นภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ปรากฏการณ์เอลนิโน ฯลฯ เป็นผลให้เกิดมลพิษและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

ประเภทของมลพิษสิ่งแวดล้อม
มลพิษสิ่งแวดล้อมสามารถเกิดได้ในหลายลักษณะต่างกันไปพอจะแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
1) มลพิษทางอากาศ มีตัววัดความเป็นมลพิษหรือดัชนีสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ CO, CO 2 , CO 4 , CH 4 , SO2, NO 2, CFC, ฝุ่นละออง หมอกควัน ความร้อน ลม ความชื้น แสงอาทิตย์
2) มลพิษทางน้ำ มีตัวดัชนีสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มคุณภาพน้ำทางกายภาพ เช่น ตะกอน ความขุ่น สี การนำไฟฟ้า กลิ่น ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ เป็นต้น กลุ่มคุณภาพน้ำทางเคมี เช่น สารฆ่าแมลง ธาตุอาหาร โลหะหนัก เป็นต้น กลุ่มคุณภาพน้ำทางชีวภาพ เช่น แพลงค์ตอนสัตว์ แบคทีเรีย โปรโตซัว เป็นต้น
3) มลพิษทางเสียง ได้แก่ เสียง ความสั่นสะเทือน
4) มลพิษทางการเกษตร ดัชนีได้แก่ สารฆ่าแมลง โลหะหนัก พยาธิ เป็นต้น
5) มลพิษทางอุตสาหกรรม และอาหาร ดัชนีได้แก่ สารฆ่าแมลง โลหะหนัก พยาธิ สารปรุงแต่งอาหาร เป็นต้น ส่วนมากปนเปื้อนมากับน้ำ สัตว์และพืชที่นำมาประกอบอาหาร
6) มลพิษทางทัศนียภาพ เกิดจากการออกแบบให้องค์ประกอบหรือการจัดรูปแบบ ให้สีไม่กลมกลืนตามธรรมชาติ ได้แก่ แบบอาคาร การวางผังเมือง เป็นต้น รวมถึงสภาพที่ไม่น่าดูชม เกิดความสลดหดหู่ เช่น ภาพข่าวสงคราม สภาพอุทกภัย สภาพความแห้งแล้ง เป็นต้น
7) มลพิษทางสังคม มีดัชนีวัดต่าง ๆ กันไป เช่น ประชากร วัดด้วยจำนวนประชากรและความหนาแน่น เศรษฐกิจวัดจากรายได้ เงินออม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดูจากจำนวนคดีอาชญากรรม แหล่งโบราณสถาน วัดจากความโดดเด่นที่วัดระยะห่างเป็นรัศมีได้

การวิเคราะห์ระบบและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ความหมายและประเภทของระบบสิ่งแวดล้อม
ความหมายของระบบสิ่งแวดล้อม
ระบบ คือ กลุ่มของสิ่งต่างๆ ที่มีพฤติกรรมในภาวะแวดล้อมที่เหมือนกัน : กลุ่มของสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โครงสร้างหรือสิ่งที่ทำขึ้นหรือแผนงาน กระบวนการ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง INPUT และ OUTPUT ภายในเวลาที่กำหนด ฯลฯ เนื่องจากในแต่ละระบบมีองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ตลอดเวลาและมีสิ่งไม่มีชีวิตเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ทำให้ระบบมีการไหลเวียนตลอดไม่หยุดนิ่ง จึงมีทั้งสิ่งนำเข้า (Input) และสิ่งนำออก (Output) หมุนเวียนอย่างมีความสัมพันธ์กัน สำหรับการวิเคราะห์ระบบและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบ คือ หน่วยของเขตหนึ่งที่ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์พฤติกรรมและเอกลักษณ์ร่วมกัน ที่มา: http://210.34.15.15/isexiamen/ise2009/images/airport05.jpg

ข้อสังเกตในการกำหนดขนาดของระบบเพื่อทำการศึกษาสิ่งแวดล้อม
1. ความต้องการศึกษา
2. สภาพภูมิศาสตร์
3. งบประมาณ
4. กำลังคน
5. เวลา
6. กฎหมาย

ประเภทของระบบสิ่งแวดล้อม
ลักษณะของระบบสิ่งแวดล้อม มี 2 ลักษณะคือ
ระบบธรรมชาติ หมายถึง ระบบทเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น
- ระบบกายภาพ เป็นระบบที่ มีสิ่งไม่มีชีวิต เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่องค์ประกอบที่เป็น ดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น
- ระบบชีวภาพ เป็นระบบที่ มีสิ่งมีชีวิตเป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่องค์ประกอบที่เป็น คน สัตว์ พืช
ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น หมายถึงระบบที่มีการกำหนดลักษณะตามความต้องการของมนุษย์ อาจเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ เป็นรูปธรรมหรือ นามธรรมก็ได้ มีทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิตเป็น องค์ประกอบ ตัวอย่างของระบบได้แก่
- ระบบเทคโนโลยี : เป็น Software, Hardware เช่น ระบบอุตสาหกรรม , ชลประทาน ฯลฯ
- ระบบสังคม : เน้นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชน เช่น ระบบเมือง , ชนบท , การศึกษา ฯลฯ
- ระบบเศรษฐกิจ : มีความเกี่ยวข้องกับเงิน เช่น ระบบธนาคาร , กู้ยืม , ตลาด ฯลฯ ระบบการเมือง เป็น การได้มาซึ่งอำนาจ เช่น ระบบประชาธิปไตย , ทหาร , เผด็จการ ฯลฯ
- ระบบวัฒนธรรม เกี่ยวข้องกับ วิถีชีวิต แนวทางปฏิบัติของชุมชน เช่น ระบบรำไทย , ศาสนาพุทธ , วัฒนธรรมภาคเหนือ , ชาวเขา ฯลฯ

วิธีการวิเคราะห์ระบบสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้การวิเคราะห์ระบบสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างครอบคลุมและถูกต้อง ควรกำหนดขั้นตอนดังนี้
1. การกำหนดขอบเขตการศึกษา โดยระบบพื้นที่ที่จะศึกษาพร้อมปัญหาที่ต้องการศึกษา
2. การสำรวจเบื้องต้น เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของระบบนั้นๆ
3. สร้างแนวความคิดเกี่ยวกับระบบ เพื่อทราบการลื่นไหลหรือความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่เกิดขึ้นในระบบที่จะศึกษา
4. เตรียมอุปกรณ์ และวิธีการสำรวจ โดยเตรียมให้เหมาะสมกับข้อมูลที่ต้องการและสภาพพื้นที่
5. วิธีวิเคราะห์ข้อมูล เลือกให้เหมาะสมกับสภาพข้อมูลที่เก็บมา
6. การประเมินผลข้อมูล ทำเพื่อทราบข้อสรุปที่ได้จากภาคสนาม
7. การวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อการระบบสิ่งแวดล้อม้เหมาะสมและตรงประเด็นกับปัญหาที่พบในพื้นที่ศึกษา

ความหมายและความสำคัญของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ความหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
มีความหมายได้ 2 ทาง คือ
1. กิจกรรมหรือการดำเนินงานค้นคว้าตรวจสอบและศึกษาสิ่งแวดล้อมทุกประเภทในระบบนิเวศ เพื่อช่วยให้การคาดคะเนว่าโครงการพัฒนาหนึ่งๆ ที่จะนำเข้าสู่สิ่งแวดล้อมนั้น จะเข้ากันได้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในระบบนิเวศได้หรือไม่ ถ้าจะนำโครงการนั้นมาพัฒนาจะก่อให้เกิดผลดีผลเสียอะไรบ้าง และศึกษาเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2. การจำแนกให้เห็นถึงผลกระทบทั้งทางด้านบวกและลบของโครงการต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณเท่าที่จะทำได้ และทำนายหรือประเมินขนาดความรุนแรงของผลกระทบของโครงการนั้นๆ โดยวิธีที่เป็นเหตุเป็นผลและเชื่อถือได้ และแปรผลให้สามารถสื่อสารเข้าใจเป็นข้อมูลแก่เจ้าของโครงการในระดับบริหารใช้ในการตัดสินใจได้ และใช้เผยแพร่แก่สาธารณชนในโอกาสต่อไป

ความสำคัญของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในประเทศไทยในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2521 ตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานะการพัฒนาประเทศ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี พ.ศ.2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มิถุนายน 2535 ซึ่งได้กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวน 19 ประเภท ประโยชน์ที่ได้จากการจัดทำ ทำให้โครงการขนาดใหญ่หรือโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงมีการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิต รวมทั้งหาทางเลือกหรือการป้องกันและลดผลกระทบอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีมาตรการติดตาม ตรวจสอบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรัดกุม ทั้งในระยะก่อนดำเนินการ รายงาน ฯลฯ จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาที่จดทะเบียนกับ สผ. จะถูกนำเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเมื่อโครงการผ่านความเห็นชอบจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป

แนวความคิดและวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่หรือ การจับกลุ่มใหม่ของสิ่งแวดล้อมทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีผลทำให้สิ่งแวดล้อมเดิมได้รับความกระทบกระเทือน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ฟิสิกส์หรือ ชีวภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อม

แนวความคิดเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1. การศึกษาก่อนการตัดสินใจในการพัฒนา เพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่อคุณภาพของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต
2. ศึกษาปัญหาหลายๆ ปัญหาร่วมกันในการแสวงหาผลกระทบ หลังจากตัดสินใจดำเนินการทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์
3. ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
• การวางแผน (Planing)
• การใช้ทรัพยากรและการอนุรักษ์ (Use & Conservation natural resources)
• การควบคุมมลพิษ (Pollution control )

ผลสรุปการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
• โครงการพัฒนานั้นก่อให้เกิดผลกระทบหรือไม่ ถ้าเกิดผลกระทบเป็นผลกระทบในด้านใด ( บวก , ลบ )
• ผลกระทบเกิดจากกิจกรรมใดของโครงการ การเกิดผลกระทบนั้นเกิด มาก / น้อย
• สิ่งแวดล้อมใด / กลุ่มใด ที่ได้รับผลกระทบ มาก / น้อย
• สร้างแผนป้องกัน แก้ไข
• พัฒนาปรับปรุงโครงการ

การจัดการสิ่งแวดล้อม

ความหมายและความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม
ความหมายของการจัดการสิ่งแวดล้อม
การจัดการสิ่งแวดล้อม หมายถึง กระบวนการแผ่กระจายทรัพยากรที่สำคัญทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ และมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความพอใจในการนำไปใช้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ต้องเป็นการดำเนินการอย่างมีระบบในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ โดยไม่มีผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อจะมีทรัพยากรใช้ได้ตลอดไป
ความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม
ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ระบบและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทางวางแผนการจัดการ และปฏิบัติโดยสามารถพยากรณ์สภาพปัญหาและวางแผนแก้ไขปัญหาก่อนการลงมือปฏิบัติดำเนินโครงการพัฒนาหรือเตรียมแผนไว้ใช้ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาระบบ โดยไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ทั้งนี้สามารถคาดคะเนทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
หลักการและแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม
มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- มุ่งการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนยาวนาน
- ใช้ทรัพยากรโดยเพิ่มจำนวน และรักษาจำนวนที่มีอยู่
- รู้จักการหมุนเวียนทรัพยากรนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
- ควบคุมของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้น
- รักษา , สงวน , ปรับปรุง , ซ่อมแซม , พัฒนาการใช้ทรัพยากร
- ควบคุมระบบนิเวศให้อยู่ในสมดุลธรรมชาติ
- ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดี
หลักเกณฑ์ในการวางแผนการจัดการยึดหลักอนุรักษ์วิทยาโดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
- การใช้อย่างสมเหตุสมผล ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามีผลเสียน้อยที่สุด
- การปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือสูญหาย
- การประหยัดในส่วนที่ควรสงวนไว้
คำนึงถึงการใช้ เช่น กรณีการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า
- ทรัพยากรที่นำออกจากระบบ คือ ทรัพยากรที่เป็นสิ่งนำออก (Output) หลังจากมีโครงสร้างการพัฒนาเข้าสู่ระบบ เช่น คน, ต้นไม้ ฯลฯ
- ทรัพยากรที่นำเข้ามาใช้ในระบบ คือ ทรัพยากรที่เป็นสิ่งนำเข้า (Input) นำเข้าสู่ระบบ เช่น เครื่องจักร ฯลฯ
- ทรัพยากรที่ใช้ในระบบ คือ ทรัพยากรที่มีใช้อยู่เดิมในระบบ เช่น คน, บ้านเรือน, ต้นไม้ ฯลฯ
- ทรัพยากรที่ใช้นอกระบบ คือ ทรัพยากรที่อยู่นอกระบบแต่มีความเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบและการทำงานในระบบ เช่น ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของชุมชน

ขั้นตอนการจัดการสิ่งแวดล้อม
ตั้งจุดประสงค์สุดยอด (Goal)
3.1) วัตถุประสงค์ : ความต้องการ
3.2) เป้าหมาย : บอกขนาดและทิศทาง ให้เห็นรูปธรรม
3.3) นโยบาย : หลักการ แผนงาน แนวทางการดำเนินงาน
3.4) มาตรการ : แนวทางการควบคุม
3.5) แผนงาน : การกำหนดงานหรือสิ่งที่ต้องทำ
3.6) แผนปฏิบัติการหรือโครงการ : กำหนดกิจกรรมของงานและขั้นตอนการดำเนินงาน ระบุผู้รับผิดชอบงบประมาณ เวลา สถานที่ โดยละเอียด

การจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทสไทย
มีข้อจำกัดหลายประการดังรวบรวมได้เป็นปัญหาในการจัดการสิ่งแวดล้อมของรัฐดังนี้
1. ประชาชนขาดความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. หน่วยงานขาดการประสานงานที่ดี
3. ขาดการวางแผนการใช้ทรัพยากรฯ แบบผสมผสาน
4. มีการใช้ทรัพยากรฯ มากเกินไป จนไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้
5. ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกันไม่ให้เกิดมลพิษ
6. ขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณในการแก้ปัญหา
7. ระบบบริหารทรัพยากรฯ ในประเทศไทยขาดประสิทธิภาพ
8. ขาดความศักดิ์สิทธิทางกฎหมาย
ฯลฯ

หน่วยงานที่เกียวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม
ภาครัฐบาล ได้แก่
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าไม้ คือ กรมอุทยานแห่งชาติ-สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและกรมป่าไม้
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ภาคเอกชน ได้แก่
- สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- มูลนิธิต่าง ๆ เช่น ตาวิเศษ , ช้าง , สัตว์ป่าพรรณพืช ฯลฯ
- ชมรมอนุรักษ์ ฯ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
หน่วยงานและองค์กรทางสิ่งแวดล้อมต่างประเทศ
- UNEP หรือองค์กรสิ่งแวดล้อมโลก (UNITED NATIONS ENVIRONMENT PROGRAMME) ขึ้นกับ UNESCO มีประเทศสมาชิกทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ มีการจัดประชุมสิ่งแวดล้อมโลกครั้งแรกที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล และกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี
- NETTLAP (NETWORD FOR ENVIRONMENTAL TRAINING AT TERITARY LEVEL IN ASIA AND THE PACIFIC) เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในด้านทุนวิจัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
ว่าที่ร้อยตรีหญิงยุวดี กวาตระกูล. สังคมกับสิ่งแวดล้อม.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

Wednesday, August 19, 2009

มลพิษทางสังคม

มลพิษทางสังคม หมายถึง สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขทางสังคม คือมีองค์ประกอบที่เป็นพิษ หรือสถานการณ์ใดๆ ที่มนุษย์ทำให้สังคมเดือดร้อน ( คล้ายคำว่า ปัญหาสังคม )

สาเหตุของมลพิษทางสังคม
เกิดจากมลสารทางสังคม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความไร้ระเบียบ พฤติกรรมเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานของสังคม ก่อให้เกิดมลพิษทางสังคม 3 ประการ คือ
- มลพิษทางกายภาพสังคม เช่น ค่านิยมในวัฒนธรรมทางวัตถุ
- มลพิษทางชีวสังคม เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์
- มลพิษทางจิตสังคม เป็นความบกพร่อง หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสังคม

การควบคุม
มีผู้ให้แนวคิดไว้ว่า
- ใช้วิธีล้มล้างระบบสังคม โดยนำระบบใหม่เข้ามาแทนที่
- แก้ปัญหาตามเหตุการณ์ที่เกิดเป็นปัญหาอยู่ในสังคมขณะนั้น
- วาง นโยบายสังคมที่ถูกต้องเหมาะสม ให้ประชาชนรู้เข้าใจสภาพมลพิษและ วางแผนพัฒนาสังคมในระยะยาว

มลพิษทางทัศนียภาพ



มลพิษทางทัศนียภาพ หมายถึง สภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยสิ่งแปดเปื้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติ ความสกปรกเลอะเทอะของสิ่งของ ความไม่เป็นระเบียบของการจัดภาพ เกิดภาพรวมที่ไม่น่าดูชม เกิดความรำคาญ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เกิดผลเสียต่อสังคม สาเหตุของมลพิษทางทัศนียภาพ เกิดจากมนุษย์และธรรมชาติ เช่น ทำลายป่า อุทกภัย ความแห้งแล้ง สลัม ป้ายโฆษณา ฯลฯ

การควบคุม
-ประยุกต์หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ป้องกันการทำลายทัศนียภาพ
- การจัดระบบสิ่งก่อสร้างและผังเมืองให้เหมาะสมและเป็นระเบียบ
- การปรับปรุงระบบเศรษฐกิจและสังคมให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

มลพิษทางอุตสาหกรรม

สาเหตุการเกิด
จากโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทิ้งกากของเสีย (Wester) จากวัตถุดิบเหลือใช้
ผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อให้ได้พลังงาน ผลกระทบของมลพิษทางอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดผลเสียหายแบบเป็นลูกโซ่ ได้แก่
- มลพิษทางดิน
- มลพิษทางน้ำ น้ำร้อนจากการหล่อเย็น
- มลพิษทางอากาศ
- มลสาร ขยะ ค่า BOD สูงในแหล่งน้ำ การควบคุม
- ใช้สารเคมีให้น้อยลง และมีมาตรการในการควบคุมการปล่อยของเสีย
- ปรับปรุงโรงงาน และกรรมวิธีการผลิตให้เหมาะสม
- การย้ายโรงงานเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรม
- นำของเสียกลับมาใช้ใหม่

Industrial Smoke and Pollution (1940)

ที่มา: YouTube

มลพิษทางการเกษตร

ที่มา: National Renewable Energy Laboratory (NREL)

สาเหตุการเกิด
จากของเสียจากการทำเกษตรกรรม (Agricultural Waste) ได้แก่
- ใช้ปุ๋ยผิดวิธี ปริมาณมาก
- สารกำจัดศัตรูพืชหรือวัตถุมีพิษทางการเกษตร (Pesticiees)
- สิ่งขับถ่ายจากปศุสัตว์ ซากพืชซากสัตว์
- การสึกกร่อนพังทลายของดิน

ผลกระทบของผลพิษทางการเกษตร
- การสูญเสียหน้าดิน
- มลพิษทางน้ำ
- สารพิษตกค้างอยู่ในห่วงโซ่อาหารและเข้าสู่ร่างกาย

วิธีการแก้ไขทำได้โดย
- ลดปริมาณการใช้สารเคมี
- ใช้วิธีการเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน

มลพิษทางเสียง

WHO ให้ความหมายว่า เสียงที่ดังเกิน 85 dB สัมผัสนานเกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ส่วนใหญ่เป็นเสียงที่ไม่ต้องการ เช่น เสียงเครื่องจักร เสียงทะเลาะวิวาท การได้ยินเสียงดัง 85 dB นานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน มีผลต่อสุขภาพอย่างมาก สาเหตุของมลพิษทางเสียง เกิดจาก เกิดจาก 1) แหล่งธรรมชาติ 2) การกระทำของมนุษย์ - แหล่งกำเนิดอยู่กับที่( Stationary Source ) - แหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ ผลกระทบของมลพิษทางเสียง ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจิตใจ ทำให้หงุดหงิดรำคาญและมีผลต่อการได้ยิน

การควบคุม
- ลดระดับเสียงที่แหล่งกำเนิดให้ต่ำลง
- ใช้เครื่องจักรกลอื่นทดแทน
- ลดเสียงที่เข้าอวัยวะเสียงให้ต่ำลง
- ควบคุมปริมาณเสียงต่อระยะเวลาได้ยินออกกฎหมายควบคุม


Bangkok Traffic

ที่มา: YouTube

มลพิษทางน้ำ



น้ำที่มลพิษแปดเปื้อนเกินขีดจำกัดหรือมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจากธรรมชาติทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต สถานภาพของน้ำเสีย มีทั้งที่เห็นด้วยตาเปล่าได้และไม่เห็นด้วยตาเปล่าแยกตามลักษณะคุณภาพน้ำ 3 กลุ่ม ดังนี้
- น้ำเสียทางกายภาพ (Physical Watsewater)
ได้แก่ การจัดคุณภาพของปัจจัยเหล่านี้
ก ) อุณหภูมิ (Temperature) คุณสมบัติ : คือเป็นอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป โดยปกติแหล่งน้ำจะ มีอุณหภูมิที่ 20-36 องศาเซลเซียส
ข ) สีและความขุ่น (Color and Turbidity) คุณสมบัติ : คือมองเห็นได้ง่ายว่ามีสีเปลี่ยนไป มีสารแขวนลอยหรือสาร ละลายเจือปนอยู่ ทำให้แสงส่องผ่านได้น้อยมีผลต่อพืชน้ำ โดยค่าสีปกติมีค่า 11-18 หน่วย
ค ) กลิ่น (Odor) คุณสมบัติ : น้ำตามธรรมชาติไม่มีกลิ่น แต่น้ำเสียจะมีกลิ่นสารเคมีหรือกลิ่น ของเน่าเปื่อยกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์ เป็นต้น
ง ) รส (Taste) คุณสมบัติ : ทั่วไปรสจืด แต่น้ำเสียจะมีรสเปรี้ยวหรือเค็ม ยกเว้นน้ำเค็ม บางครั้งอาจไม่เสีย เช่น ทะเล
จ ) ความเป็นกรด - ด่าง (pH) คุณสมบัติ : ปกติมีค่า pH 6.5-8.5 ค่าความเป็นกรด - ด่างเปลี่ยนแปลงไปส่วนมากเป็นปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรม
ฉ ) การนำไฟฟ้า (Electical Conductivity) คุณสมบัติ : ขึ้นกับความเข้มข้นของสารละลายในน้ำ โดยน้ำตามธรรมชาติมีค่าการนำไฟฟ้า 0.1-5 มิลลิโวลท์แต่หากมีค่าสูงกว่า 3 มิลลิโวลท์ / ซม . จะมีผลเสียต่อสัตว์ พืชน้ำ
ช ) ของแข็งในน้ำ (Tatal Solids) คุณสมบัติ : เป็นสารแขวนลอย (Supended Solids) และสารละลายน้ำได้ (Dissolved Solids) โดยทั่วไปน้ำบริโภค มีของแข็ง 20-100 มิลลิกรัม / ลิตร ในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีของแข็ง 100/500 มิลลิกรัม / ลิตร และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีของแข็ง มากกว่า 1000 มิลลิกรัม / ลิตร
ซ ) อื่น ๆ คุณสมบัติ : ได้แก่ ความหนาแน่น ความหนืด ระดับความลึก

- น้ำเสียทางเคมี (Chemical Watse Water)
ก ) โลหะหนัก (Heavy Metals) คุณสมบัติ : เป็นผลึกบริสุทธิ์มีความเป็นพิษเล็กน้อย บางตัวมีสารประกอบที่มีความดันไอสูง จะอันตรายมาก เช่น เมธอล สำคัญมาก 3 ธาตุ คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ส่วนมากพบสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ในธรรมชาติเกิดจากการสลายตัวของหิน แต่มีปริมาณน้อยไม่อันตราย
ข ) สารกัมมันตภาพรังสี (Radioactive Elements) คุณสมบัติ : เกิดปัญหามากในต่างประเทศ โดยปกติมีในธรรมชาติ แต่มีปริมาณน้อย เช่น พื้นดินบางแห่งส่วนมากพบจากโรงงานปรมาณู
ค ) วัตถุมีพิษ (Pesticides) คุณสมบัติ : สารเคมีที่ใช้ฆ่าพืชและสัตว์ ที่เป็นศัตรูต่อพืชและสัตว์ที่นิยมใช้ ได้แก่ กลุ่มคลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน คุณสมบัติใช้ กำจัดแมลงและ ไรแดง เช่น DDT คลอเคน ลินเคน เอ็นดริน อัลริน ฯลฯ กลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต เช่น พาราไธออน ซูมิไธออน มาลาไธออน เมวินฟอส ไดอะซิโน ไดซีสตรอน กลุ่มบาคาร์บาเมต มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นน้อย เช่น คาร์บารีล เซวิน พิษสูงต่อผึ้ง ปลา กลุ่มยากำจัดเชื้อรา แบคทีเรีย วัชพืช ไส้เดือนฝอย เช่น มีมากอน ทูโฟร์ที วัตถุมีพิษเหล่านี้จะถูก ชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากส่วนผักผลไม้ส่วนมากเป็นพวกดีลดริน DDT DDE

- น้ำเสียทางชีววิทยา (Biological Watse Water) คุณสมบัติ : มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ พืช โดยไม่ทำให้น้ำเน่าเสียแต่เป็นพิษเมื่อถูกนำมาบริโภค หรือตัวของมันทำกิจกรรมแล้ว น้ำเน่าเสีย แบคทีเรีย ก่อให้เกิดโรคไข้รากสาด อหิวาห์ตกโรค โรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เชื้อโปรโตซัว บิด ไวรัส โปลิโอ ตับอักเสบ พยาธิ ไส้เดือนกลม พยาธิใบไม้ พยาธิลำไส้ พยาธิแส้ม้า เชื้อรา เศษไม้ใบไม้ ขยะมูลฝอย เป็นต้น สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก่อให้เกิดผลคือ
ก ) พิษต่อสุขภาพและอนามัย : โดยเข้าสู่ร่างกายโดยตรง เช่น การบริโภคหรือสัมผัสทางผิวหนังหรือการหายใจและเข้าทางเส้นเลือดฝอย บางส่วนเข้าสู่ร่างกายทางอ้อม
ข ) การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ : สาเหตุ : กิจกรรมของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ก่อให้เกิดสารแขวนลอยที่เป็นสารอินทรีย์และอนินทรีย์ มีผลต่ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ซึ่งในน้ำปกติจะมีออกซิเจนที่ละลายในแหล่งน้ำ (DO) มากกว่า 7 มิลลิกรัม / ลิตร

สาเหตุของน้ำเสีย
- จากอาคารบ้านเรือนและชุมชนส่วนใหญ่มาในรูปของสิ่งปฏิกูล ซึ่งจะมีปริมาณมากหรือน้อยอาจพิจารณาได้จากขนาดของชุมชนและสถานที่ตั้งชุมชน
- จากโรงงานอุตสาหกรรม ในกระบวนการผลิต ต้นทุนการผลิต และขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐบาล - จากการเกษตร ในกระบวนการเตรียมดิน การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวใน ขั้นตอนกระบวนผลิต พืชน้ำ สัตว์น้ำ ( เลี้ยง ) เช่น การปลูกผักระเฉด การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และการชำระล้างเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง
- จากการพักผ่อนหย่อนใจ ได้แก่ ประเพณีนิยม เช่น ลอยกระทง ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก การใช้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยขาดจิตสำนึกเช่น การทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ
- จากการทำลายป่า ก่อให้เกิดการชะล้างผิวหน้าดิน และการพังทลายของดินได้ง่ายมีผลต่อคุณภาพน้ำทำให้มีตะกอนในแหล่งน้ำมากขึ้น
- จากการสาธารณสุข พบว่าสถานพยาบาลต่าง ๆ มีขยะที่มีเชื้อโรคและสารพิษ จำนวนมากและขาดการกำจัดที่ถูกต้อง เมื่อฝนตกอาจชะล้างเชื้อโรคและสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ หรือเกิดจากน้ำใช้จากสถานพยาบาลที่มีเชื้อโรคและสารพิษเจือปน
- จากการเลี้ยงสัตว์ พบว่ามูลของสัตว์ อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ หากกำจัดไม่ถูกวิธี ก่อให้เกิดโรคระบาดได้ นอกจากนี้ยังเกิดการพังทลายของดิน จากการเลี้ยงสัตว์ที่แทะเล็มพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะบริเวณริมตลิ่ง

ผลกระทบจากมลพิษทางน้ำ
- ก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และอาจทำให้เกิดมลพิษชนิดอื่นตามมาอีกด้วย โดยมีผลกระทบต่อ การอุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม การประมง การสาธารณสุข ฯลฯ แนวทางแก้ไขและควบคุม
1) ใช้เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสีย
2) เร่งรัดการควบคุมการระบายน้ำทิ้งและการบำบัด
3) จัดมาตรฐานน้ำทิ้งที่เหมาะสม
4) จัดระบบการเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพสูง
5) กำหนดหรือ ออกกฎหมายให้อาคาร และสิ่งก่อสร้างบางประเภทมีระบบบำบัดน้ำเสีย
6) ป้องกันการรุกล้ำแหล่งน้ำ
7) ตรวจสอบคุณภาพน้ำ วิจัยแหล่งกำเนิดน้ำเสีย หาวิธีควบคุมและบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสม
8) ควบคุมการเพิ่มประชากรในแหล่งชุมชน
9) เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำแก่คนทุกระดับ

การแพร่กระจายสารมลพิษในอากาศ

การแพร่กระจายสารมลพิษในอากาศ ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ ได้แก่
- การเคลื่อนไหวของสารมลพิษจะไปตามทิศทางลม
- ความปรวนแปรของบรรยากาศ
- ลักษณะภูมิประเทศ
- สิ่งก่อสร้าง
- การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ มลพิษทางอากาศที่สำคัญ คือ - คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)คุณสมบัติ : ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นแหล่งกำเนิด : แหล่งธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ประมาณว่า CO ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ = 7% ของ CO ทั้งหมดกว่า 90% มาจากธรรมชาติจากปฏิกริยาแตกสลายตัวของ O3 โดยมีแสงแดดเข้ามาช่วย และขบวนการทางเคมีของสารอินทรีย์บนผิวทะเล CO ผิวโลกมีความเข้มข้น = 0.1 ppm

ขบวนการขจัด CO3 วิธีคือ ขบวนการเปลี่ยน CO เป็น CO2
ก ) ขบวนการทางชีววิทยา Fungi ในดินดูดกลืน (Absorb) CO
ข ) ถูกดูดกลืนโดยพืชตระกูลสูง ( พืชยืนต้น )
- ออกไซด์ของซัลเฟอร์ มีความสำคัญส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง คุณสมบัติ : ไม่มีสี มีกลิ่นกรด จุดเดือด
– 10 ?C แหล่งกำเนิด : แหล่งธรรมชาติ ดิน , ทะเลโดยขบวนการชีวภาพ การกระทำของมนุษย์ : เผาไหม้เชื้อเพลิง ถ่าน หิน , น้ำมันปิโตรเลียม
- ออกไซด์ของไนโตรเจน คุณสมบัติ : ไนโตรเจนรวมกับออกซิเจนเกิดเป็นออกไซด์ เช่น ไนตรีสออกไซด์ (N3O) หรือ แก๊สหัวเราะ , ไนตริกออกไซด์ (NO) เป็นต้น แหล่งกำเนิด : กิจกรรมของมนุษย์ การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม No 2 ( ไนโตรเจนไดออกไซด์ ละลายน้ำได้เป็นอย่างดี จึงอยู่ในบรรยากาศได้เพียง 3 วัน จะถูกขจัดออกโดยรวมกับละอองน้ำในอากาศ หรือ น้ำฝน เกิดเป็นกรดไนตริก (HNO3 ) ฝนกรด (Acid Rain)
- ไฮโดรคาร์บอน แหล่งกำเนิด : 954 กระบวนการทางชีววิทยาของพืชและสัตว์ เช่น การเน่าเปื่อยของซากพืช โดยจุลินทรีย์ไร้ออกซิเจน (Anaerobid Bacteria) ให้มีแก๊สมีเทน (CH4) : กิจกรรมของมนุษย์ การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง , ถ่านหิน , ถ่านไม้ , การระเหยของตัวละลายอินทรีย์ในโรงงาน อุตสาหกรรม
- อนุภาคมลสาร แหล่งกำเนิด : แขวนลอยในอากาศ ของเหลว , ของแข็ง เช่น ฝุ่นละอองจากดินแห้ง , ละออง , เกสรดอกไม้ (Pollen) ควันจากไฟไหม้ป่า , วัตถุจากการระเบิดของภูเขาไฟ อันตรายจากสารมลพิษในอากาศ
- CO ก่อให้เกิด การรวมกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด > O 2 = 200 – 250 เท่า ก๊าซคาร์บ็อกซี ฮีโมโกลบิน ทำให้ร่างกายรับ O 2 ไม่เพียงพอ ปวดศีรษะ , คลื่นไส้ ง่วง หลับ หมด สติ ตาย - NO 2 ก่อให้เกิด หากได้รับ No 2 เข้มข้น 90 ไมโครกรัม / ลบ . ม . 1 ชม ./ วัน จะเกิดอันตราย นอกจากนี้ยังเพิ่มอาการตีบตันของทางเดินหายใจผู้ป่วยโรคหืด หากได้รับ No 2 500
– 940 mg/m 3 อาจถึงตาย ปอดบวมน้ำ หรือสลบเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน
- SO 2 และฝุ่นละออง ก่อให้เกิด SO 2 ทำปฏิกิริยากับ O 2 ในอากาศ SO 3 หากความชื้นเพียงพอเกิดเป็นกรดซัลฟูริก ทำอันตรายเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ฝุ่นละอองทำให้ระคาย เคืองเมื่อสูดหายใจเข้าไป ฝุ่นละอองบางชนิดมีพิษอยู่ในตัวของมันเอง เช่น ซิลิกา ละออง โลหะหนัก ต่าง ๆ เพิ่มความระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ บางชนิดเร่งปฏิกิริยา SO 2 ให้เป็นกรดซัลฟูริก เร็วขึ้น เช่น ละอองไอของฟอสฟอรัส แมงกานีส เป็นต้น
- โฟโตเคมีคัลออกซิเดนท์ ก่อให้เกิด ปฏิกิริยาเคมี ไฮโดรคาร์บอนกับออกไซด์ของไนโตรเจน โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่ง ทำให้เกิด O 3 , No 2 , SO 3 คีโทร และสารโฟโตฯ 0.1-0.24 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ยังมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ , ระคายเคืองตาอีกด้วย
- ตะกั่ว (Lead) ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางในเด็กซึ่งพบมากกว่าผู้ใหญ่ โดยทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้น อันตราย ต่อระบบประสาท ทางเดินอาหาร ตับ ไต หัวใจและระบบสืบพันธุ์

หลักการในการควบคุมสารมลพิษในอากาศ
- หลักการทั่วไปมี 2 ลักษณะคือ ควบคุมแหล่งกำเนิดหรือควบคุมในบรรยากาศ ดังนี้คือ
ก ) ใช้วัตถุดิบ , เชื้อเพลิงที่ไม่มีสารมลพิษ เช่น ก๊าซ LPG
ข ) ปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบ , เชื้อเพลิง เช่น ลดสารปรุงแต่งน้ำมันเชื้อเพลิง
ค ) ปรับปรุงแก้ไขวิธีการในการกำจัดสารมลพิษ
ง ) ขจัดสารที่ทำให้อากาศสกปรกออกจากอากาศเสีย
จ ) เปลี่ยนแปลงขบวนการใหม่ ๆ ไม่ให้เกิดมลพิษในอากาศ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก
- หลักการวิทยาศาสตร์ โดยประยุกต์เทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษในอากาศ ประกอบด้วย
ก ) การตกตะกอน (Sedimentation) แยกอนุภาคของแข็งออกจากก๊าซโดยอาศัยแรงดึงดูดของโลก อนุภาคขนาดใหญ่ตกตะกอนในระยะทางใกล้และเร็วกว่าอนุภาคขนาดเล็ก
ข ) การกรอง (Filtration) ขบวนการแยกอนุภาคของแข็งออกจากก๊าซด้วยแผ่นกรองรูขนาดต่างๆ ตามอนุภาคของแข็ง
ค ) การดูดซึม (Absorbtion) ดูดซึมของเหลวและสารแขวนลอยขนาดเล็ก เช่น ใช้สารละลายดูดกลืน สารมลพิษในก๊าซ
ง ) การดูดติดผิว (Absorption) ดูดติดเฉพาะบริเวณผิวของตัวดูด ใช้กับของแข็งและของเหลว
จ ) แรงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal Action) เหวี่ยงอนุภาคของวัตถุเป็นแนววงกลม ตกตะกอน
ฉ) อำนาจไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic Attraction) ผ่านก๊าซเสียเข้าสู่สนามไฟฟ้าสถิตย์ เกิดประจุอนุภาค ใช้กับฝุ่นละออง
ช ) ออกซิเดชั่น (Oxidation) สารทำป ฏิกริยากับ O 2 สูญเสียอิเลคตรอนเกิดเป็นสารใหม่
ซ ) การปะทะ (Impaction) ใช้แผ่นกั้นลดความเร็ว ตกตะกอน

เทคโนโลยีการควบคุมสารมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
- จำกัดปริมาณสารพิษที่ปล่อยสู่บรรยากาศให้น้อยลง ทั้งอนุภาคมลสาร (Particulate) และก๊าซ (Gases) โดยควบคุมได้ 3 ลักษณะดังนี้
ก ) ให้มีการกระจายของสารมลพิษในอากาศ โดยการใช้ปล่องไฟและการวางผังเมือง ให้เหมาะสม
ข ) ควบคุมอนุภาคของมลสารที่แหล่งกำเนิด มีหลายวิธีได้ดังนี้
1) ห้องตก ตะกอน คุณสมบัติ : แยกอนุภาคมลสารขนาดใหญ่กว่า 100 ไมโครเมตร โดยให้ก๊าซเสียผ่านเข้าไปใหญ่ ทำการควบคุมความเร็วของอากาศ วิธีนี้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ประสิทธิภาพต่ำเหมาะทำความสะอาดขั้นแรก
2) เครื่องแยกด้วยแรงหนีศูนย์กลาง คุณสมบัติ : การหมุนของก๊าซเป็นรูปกรวย ทำให้อนุภาคมลสารเคลื่อนที่เข้าหาผนังด้านแรงเฉื่อย แล้วตกตะกอน ลักษณะคล้ายสภาวะสูญญากาศ มีประสิทธิภาพในการกำหนดอนุภาคมลสาร 50-95% การกระจายของมลพิษในอากาศจะขึ้นอยู่กับปัจจัยความสูงของปล่องไฟและลักษณะภูมิประเทศ
3) เครื่องเก็บแบบเปียก คุณสมบัติ : ผ่านก๊าซเข้าห้องฉีด ทำให้อากาศเปียก อนุภาคมลสารจึงมีน้ำหนักมากขึ้น เกิดการตกตะกอน ใช้แยกอนุภาคขนาด 1-20 ไมครอน ข้อเสีย : ถ้าอากาศมีก๊าซ SO 2 และ NO 2 จะทำให้น้ำมีสมบัติเป็น กรดเกิดการกัดกร่อนเครื่องจะเสียเร็ว นอกจากนี้ยังมีราคาแพง และต้องทำการกำจัดน้ำเสีย ซึ่งมีปริมาณสูงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก
4) เครื่องกรองใย คุณสมบัติ : ผ่านก๊าซเสียเข้าห้องซึ่งมีถุงกรองจำนวนมาก อนุภาค มลสารขนาดเล็กจะถูกดูด ส่วนอนุภาคมลสารขนาดใหญ่ จะตกลงพื้น วิธีนี้เหมาะกับก๊าซแห้ง มีประสิทธิภาพ 75-99% ข้อเสีย : ถุงอาจไหม้เนื่องจากร้อน
5) เครื่องตกตะกอนไฟฟ้าสถิตย์ คุณสมบัติ : ใช้กับอนุภาคมลสารที่เกิดประจุไฟฟ้าได้ง่ายโดยใช้ ไฟฟ้าแรงสูงมีประสิทธิภาพสูง 95-99% การลงทุนสูง แต่ดูแลรักษาง่าย
ค ) การควบคุมสารมลพิษที่เป็นก๊าซจากแหล่งกำเนิด ที่นิยมมี 3 ชนิด คือ
1) การดูดติดผิว คุณสมบัติ : ส่วนใหญ่ใช้กับสารอินทรีย์เป็นละอองไอ และไอออนจากก๊าซเสียนิยมใช้ Silica gel, Aulmina, Seoolites, Activated, Carbon * มากที่สุด เมื่อใช้ถึงจุดอิ่มตัวต้องนำไปผ่านขบวนการเพื่อนำกลับมาใช้อีก (Regeneration) ดังนั้นควรต้องมี 2 ชุด ใช้สลับกัน
2) การดูดซึม คุณสมบัติ : ผ่านก๊าซเข้าด้านล่างของหอสูงให้ไหลทวนกับของเหลวที่สะอาด
3) การเผาไหม้ (Combustion) คุณสมบัติ : เปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางกายภาพของก๊าซ เกิดการ เผาไหม้สมบูรณ์ 100% จาก 3 วิธีคือ การเผาไหม้โดยตรง (Direct Combustion) การเกิดปฏิกริยาการเติม O 2 ที่อุณหภูมิสูง (Thermal Oxidation) และวิธีการใช้ตัวเร่ง ปฏิกริยา (Catalytic Oxidation) โดยแตกต่างกันที่ตัวทำละลาย การกระจายของอากาศ ค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีการควบคุมสารมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จำกัดปริมาณสารพิษที่ปล่อยสู่บรรยากาศให้น้อยลง ทั้งอนุภาคมลสาร (Particulate) และก๊าซ (Gases) โดยควบคุมได้ 3 ลักษณะดังนี้
ก ) ให้มีการกระจายของสารมลพิษในอากาศ โดยการใช้ปล่องไฟและการวางผังเมือง ให้เหมาะสม
ข ) ควบคุมอนุภาคของมลสารที่แหล่งกำเนิด มีหลายวิธีได้ดังนี้
1) ห้องตกตะกอน คุณสมบัติ : แยกอนุภาคมลสารขนาดใหญ่กว่า 100 ไมโครเมตร โดยให้ก๊าซเสียผ่านเข้าไปใหญ่ ทำการควบคุมความเร็วของอากาศ วิธีนี้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ประสิทธิภาพต่ำเหมาะทำความสะอาดขั้นแรก
2) เครื่องแยกด้วยแรงหนีศูนย์กลาง คุณสมบัติ : การหมุนของก๊าซเป็นรูปกรวย ทำให้อนุภาคมลสารเคลื่อนที่เข้าหาผนังด้านแรงเฉื่อย แล้วตกตะกอน ลักษณะคล้ายสภาวะสูญญากาศ มีประสิทธิภาพในการกำหนดอนุภาคมลสาร 50-95%การกระจายของมลพิษในอากาศจะขึ้นอยู่กับปัจจัยความสูงของปล่องไฟและลักษณะภูมิประเทศ
3) เครื่องเก็บแบบเปียก คุณสมบัติ : ผ่านก๊าซเข้าห้องฉีด ทำให้อากาศเปียก อนุภาคมลสารจึงมีน้ำหนักมากขึ้น เกิดการตกตะกอน ใช้แยกอนุภาคขนาด 1-20 ไมครอน ข้อเสีย : ถ้าอากาศมีก๊าซ SO 2 และ NO 2 จะทำให้น้ำมีสมบัติเป็น กรดเกิดการกัดกร่อนเครื่องจะเสียเร็ว นอกจากนี้ยังมีราคาแพง และต้องทำการกำจัดน้ำเสีย ซึ่งมีปริมาณสูงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก
4) เครื่องกรองใย คุณสมบัติ : ผ่านก๊าซเสียเข้าห้องซึ่งมีถุงกรองจำนวนมาก อนุภาค มลสารขนาดเล็กจะถูกดูด ส่วนอนุภาคมลสารขนาดใหญ่ จะตกลงพื้น วิธีนี้เหมาะกับก๊าซแห้ง มีประสิทธิภาพ 75-99% ข้อเสีย : ถุงอาจไหม้เนื่องจากร้อน
5) เครื่องตกตะกอนไฟฟ้าสถิตย์ คุณสมบัติ : ใช้กับอนุภาคมลสารที่เกิดประจุไฟฟ้าได้ง่ายโดยใช้ ไฟฟ้าแรงสูงมีประสิทธิภาพสูง 95-99% การลงทุนสูง แต่ดูแลรักษาง่าย
ค ) การควบคุมสารมลพิษที่เป็นก๊าซจากแหล่งกำเนิด ที่นิยมมี 3 ชนิด คือ
1) การดูดติดผิว คุณสมบัติ : ส่วนใหญ่ใช้กับสารอินทรีย์เป็นละอองไอ และไอออนจากก๊าซเสียนิยมใช้ Silica gel, Aulmina, Seoolites, Activated, Carbon * มากที่สุด เมื่อใช้ถึงจุดอิ่มตัวต้องนำไปผ่านขบวนการเพื่อนำกลับมาใช้อีก (Regeneration) ดังนั้นควรต้องมี 2 ชุด ใช้สลับกัน
2) การดูดซึมคุณสมบัติ : ผ่านก๊าซเข้าด้านล่างของหอสูงให้ไหลทวนกับของเหลวที่สะอาด
3) การเผาไหม้ (Combustion) คุณสมบัติ : เปลี่ยนแปลงทางเคมี


ที่มา: YouTube

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษสิ่งแวดล้อม

ความหมายของปัญหาสิ่งแวดล้อม
1. ปัญหาที่เกิดขึ้นจาการใช้ทรัพยากรของมนุษย์อย่างไม่ประหยัดและขาดความรับผิดชอบก่อให้เกิดปัญหามลพิษและปัญหาอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาวะการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อคนจำนวนมากซึ่งภาวการณ์ดังกล่าวไม่เป็นที่พึงปรารถนาและควรมีการกระทำบางอย่างเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
2. ปัญหาเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ดิน แร่ธาตุ สัตว์ และพืช และปัญหาเสื่อมโทรมของคุณค่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์เช่น ดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น รวมถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมอันมีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ ลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมตามการให้นิยามของ สำนักงานคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แบ่งเป็น
1. ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่
- ภาวะมลพิษ
- ปัญหาความร่อยหรอของทรัพยากร
- ปัญหาการใช้ทรัพยากรไม่ถูกวิธี ขาดการอนุรักษ์
2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่
- ปัญหาความยากจน
- ความขาดแคลนอาหาร
- ที่อยู่อาศัย - ความไม่รู้หนังสือ
- ความเจ็บไข้ ฯลฯ
3.สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม
3.1) ปัญหาประชากร
1) การเพิ่มจำนวนประชากร
2) ขยายตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่(1) ด้านการเกษตรการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง (2) ด้านอุตสาหกรรมเนื่องจากการใช้เครื่องจักรแทนคนก่อให้เกิด- ปัญหาว่างงาน - ขาดแคลนทรัพยากร (3) ด้านคมนาคม ความสะดวกสบายในการคมนาคมทำให้เกิดการจราจรติดขัดจากมีปริมาณการใช้มาก(4) สารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งนำมาใช้ในการถนอมอาหาร การสงคราม
3.2) การขยายตัวของเมือง เกิดจากภาวะหรือปัจจัยทางสังคมที่ผลักดันให้คนส่วนใหญ่เกาะกลุ่มกันเข้ามาอยู่ในเขตเมือง ภาวะดังกล่าวได้แก่
1) แรงดึง เป็นลักษณะที่พิจารณาได้จาก ความก้าวหน้าในการติดต่อสื่อสาร การศึกษา เศรษฐกิจ ความสะดวกสบาย รายได้ต่อหัวของคนในเขตเมืองที่มีสูงกว่า จึงเป็นแรงดึงดูดคนจากชนบทซึ่งมีโอกาสด้อยกว่า เข้ามาสู่เมืองมากขึ้น
2) แรงดัน เป็นลักษณะที่พิจารณาได้จากสภาพ ปัญหาในชนบท เช่น ความยากจน จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต้องอาศัยสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้รับการส่งเสริมไม่เพียงพอ จึงเสมือนเป็นแรงผลักดันให้ออกจากชนบทเข้าสู่เมืองเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า
3.3) สภาพการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม พบว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรและสาเหตุการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นได้ก่อให้เกิดสภาพการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม เพราะขาดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งบางพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ถูกสภาพการเป็นเมืองเข้าก่อสร้างซ้อนทับ มีผลทำให้ต้องแสวงหาพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ โดยบุกรุกพื้นที่ป่า
3.4) การใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม ได้แก่การใช้สารเคมีในการเกษตรและอุตสาหกรรมรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ถูกวิธี ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นกจากนี้การใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถทำลายทรัพยากรได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบนิเวศถูกทำลายอย่างรวดเร็ว การนำปะการังเก็บขึ้นมาทำเป็นสินค้าที่ระลึก ทำให้สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย คุณภาพดินเสื่อมจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรและปุ๋ยเคมีในระยะเวลานาน ๆ อย่างต่อเนื่อง

แนวคิดพื้นฐานทางนิเวศวิทยา

ความสมดุลของระบบนิเวศ หมายถึงสภาวะที่ระบบมีความเหมาะสมในการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตโดยแต่ละองค์ประกอบสามารถทำหน้าที่ของตนได้เป็นปกติ ทั้งนี้แม้ว่าระบบจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ไม่ทำให้โครงสร้างของระบบถูกทำลายหรือสูญเสียหายไปความหมายของความสมดุลในระบบนิเวศโดยกฎธรรมชาติของระบบนิเวศจะสามารถควบคุมองค์ประกอบที่สำคัญของระบบไว้ได้ให้อยู่ในระดับความสมดุลกันโดยสามารถปรับปรุงและซ่อมแซมทดแทนองค์ประกอบส่วนที่ขาดไปให้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ เช่น ในระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์สลับซับซ้อนมาก เมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สิ่งมีชีวิตก็สามารถปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ได้เพราะปัจจัยธรรมชาติที่ซับซ้อนมากมายนั้นมีให้เลือกใช้ทดแทนกันได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมนุษย์ได้นำปัจจัยธรรมชาติมาใช้เพื่อสนองความต้องการในปัจจัยสี่และความต้องการที่เป็นส่วนเกินต่าง ๆ มากเกินไปจนขาดความสมดุลในระบบนิเวศ จึงเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในที่สุด
จัยที่มีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นสภาวะหนึ่งจะเกิดขึ้นได้มีสิ่งที่ต้องคำนึงอย่างยิ่งในการพิจารณาหลายประการ และต้องพิจารณาว่าโครงสร้างหรือองค์ประกอบของระบบนิเวศนั้นอยู่ในสภาวะใดในปัจจุบัน โดยสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้ชนิด ปริมาณ สัดส่วน การกระจาย
ชนิด (Diversity) : ในสิ่งแวดล้อมจะมีสิ่งต่าง ๆ ที่คละกันหลาย ๆ ชนิด เช่น ดิน หิน แร่ น้ำ ป่าไม้ คน ฯลฯ และในแต่ละชนิดนั้นสามารถกำหนดไปได้อีกว่า ส่วนย่อยอะไรบ้าง
ปริมาณ (Quantiy) : นอกจากมีความคละกันหลายชนิดแล้ว ยังมีในปริมาณที่แตกต่างกันเสมอ สัดส่วน (Proportion) : เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งแวดล้อมทุกชนิดจะมีปริมาณที่แตกต่างกันก็จริงอยู่ แต่ถ้าจะให้อยู่ในภาวะสมดุลแล้วสิ่งแวดล้อมทุกชนิดจะต้องมีปริมาณที่ได้สัดส่วนกันเสมอมิฉะนั้นแล้วจะทำให้ระบบนิเวศนั้นไม่อยู่ในภาวะสมดุลได้
การกระจาย (Distribution) : แม้ว่าระบบสิ่งแวดล้อมนั้นจะมีชนิด ปริมาณ และสัดส่วนที่เหมาะสมก็ตาม แต่ถ้าการกระจายของสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอย่างดีและสม่ำเสมอทั่วระบบแล้ว ระบบนั้นอาจเกิดปัญหาได้
ธรรมชาติของการควบคุมระบบนิเวศตามทฤษฎีในระบบนิเวศ สังคมใดๆในธรรมชาติจะสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการควบคุมให้องค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบอยู่ในภาวะที่สมดุลซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมในระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องได้เพราะสิ่งมีชีวิตในระบบจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมหรือรักษาสภาพตัวเอง (self maintenance)
- มีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือควบคุมตัวเอง (self regulation)
- ความสมดุลในระบบหรือการคงสภาพ (homeostasis)
- ไม่มีประชากรหรือสิ่งมีชีวิตมากเกิน Carrying Capacity หรือสมรรณนะการยอมมีได้
- มีปัจจัยจำกัด (Limiting Factor)
- ศักยภาพทางชีวภาพ (Biological Ptential)
- ความทนทาน (Limit of Tolerance) หรือช่วงความทนทาน (Tolerance Range) ที่ต่างกัน
- ระบบจะมีการเปลี่ยนแปลง (Dynamism) ไปตามกาลเวลาและสถานที่
- มีความยืดหยุ่นทางชีวภาพ (Biological Magnification) ที่ต่างกัน
- ความต้านทานทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Resistance)
- ปัจจัยชดเชย (Compensation Factor)
- ปัจจัยการอยู่ร่วมกัน (Holocenotic Facor)
ดังกล่าวมาข้างต้นจะพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ทั้งยังขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ อาจกล่าวได้ว่าระบบนิเวศสามารถเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะของระบบออกเป็น 4 สภาวะ ได้แก่
1) สภาวะสมดุลธรรมชาติ : ระบบดำเนินกิจกรรมตามปกติ
2) สภาวะเตือนภัย : ระบบเริ่มมีสภาพปัญหามีแนวโน้มจะขยายเพิ่มขึ้น3) สภาวะระวังภัย : ระบบปัญหารุนแรงมากขึ้นและลุกลาม ถึงขั้นมีสิ่งมีชีวิต ตายลง
4) สภาวะวิกฤต : ระบบไม่เอื้ออำนวยต่อการมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ทั้งนี้เชื่อว่า ระบบนิเวศจะมีกลไกธรรมชาติที่พยายามปรับสมดุลอยู่เสมอ จึงอาจหมุนเวียนสภาวะต่าง ๆ ได้ไม่ตายตัว ตราบใดที่โครงสร้างและหน้าที่ของระบบยังไม่สูญสลาย ระบบนิเวศนั้นยังคงต่อสู้เพื่อความอยู่รอด


Find out more about the Census of Marine Life and the Ocean Biogeographic Information System

ที่มา: YouTube

โครงสร้างและหน้าที่ในระบบนิเวศ

โครงสร้างของระบบนิเวศหรือองค์ประกอบ (Structure or Component) มีหลายสิ่งหลายอย่างนานาชนิด (Diversity) ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมโดยมีการกระจายอย่างได้สัดส่วนของปริมาณสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่เพื่อการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นวงจรชีวิตโครงสร้างในระบบนิเวศโครงสร้างในระบบนิเวศ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่เป็นสิ่งมีชีวิต (Biotic) เป็นตัวการที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละระบบนิเวศแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะและหน้าที่ในระบบนิเวศนั้น ๆ
1.1) ผู้ผลิต (Producers) หมายถึง ผู้ผลิตโดยทั่วไปคือพืชสีเขียวทั้งหมด ตั้งแต่พืชที่มีขนาดเล็กที่สุด ไปจนถึงพืชที่มีขนาดใหญ่ พืชเหล่านี้สามารถผลิตอาหารขึ้นเองจากอนินทรีย์สารที่มี่โครงสร้างทางเคมีไม่ซับซ้อน เรียกว่า Autotrophic Organisms ด้วยการใช้น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์จากภายนอก โดยมีแสงอาทิตย์เป็นแหล่งของพลังงาน กระบวนการสร้างอาหารของสิ่งมีชีวิตนี้ เรียกว่า กระบวนการสังเคราะห์แสง
1.2) ผู้บริโภค (Consumers) หมายถึง สิ่งที่ไม่สามารถผลิตอาหารขึ้นใช้เองได้ ต้องหาอาหารและพลังงานให้ตัวเองด้วยการบริโภคสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นเรียกว่า Heterotrophic Organisms ที่เป็นทั้งพืชและสัตว์ แยกผู้บริโภคได้เป็นผู้บริโภคขนาดใหญ่ กับผู้บริโภคขนาดเล็ก ผู้บริโภคขนาดใหญ่แยกออกได้3 กลุ่มคือ
ก) กลุ่มผู้บริโภคที่กินเฉพาะพืชเป็นอาหาร(Herbivores) เช่น วัวแพะกระต่าย ฯลฯ
ข) กลุ่มผู้บริโภคที่กินเฉพาะสัตว์เป็นอาหาร(Carnivores) เช่น กบ งู สุนัขจิ้งจอก ฯลฯ
ค) กลุ่มผู้บริโภคที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร (Omnivores) เช่น มนุษย์
ผู้บริโภคตามระดับขั้นของการบริโภคออกเป็น
ก) ผู้บริโภคขั้นปฐมภูมิ (Primary Consumer) ได้แก่ ผู้ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น แมลง สัตว์บก เช่น วัว, ควาย, แพะ, แกะ, กระต่าย ฯลฯ
ข) ผู้บริโภคขั้นทุติยภูมิ (Secondary Consumer) ได้แก่ ผู้ที่กินผู้บริโภคขั้นปฐมภูมิเป็นอาหาร เช่น เสือ สุนัขจิ้งจอก จระเข้ ตัวอ่อนของแมลงในน้ำซึ่งกินแพลงก์ตอนสัตว์ เป็นต้น
ค) ผู้บริโภคขั้นตติยภูมิ (Tertiary Consumer) ได้แก่ ผู้ที่กินผู้บริโภคขั้นทุติยภูมิอีกต่อหนึ่ง เช่น ปลาที่กินตัวอ่อนของแมลง เป็นต้น
1.3) ผู้ย่อยสลาย (Decomposers) ได้แก่ พวกแบคทีเรีย เห็ด รา สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เน่าเปื่อย ของเสีย และกากอาหารให้เป็นสารที่มีขนาดโมเลกุลเล็กลงแล้วจึงดูดซึมส่วนที่สลายได้ไปใช้เป็นอาหารบางส่วน ส่วนที่เหลือจะปลดปล่อยออกไปในสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งธาตุอาหารต่อไป
องค์ประกอบที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic) เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของระบบนิเวศและเป็นปัจจัยช่วยให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นสมาชิกในระบบ สามารถดำเนินกิจกรรมได้
1) พลังงาน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ระบบนิเวศคงความเป็นระบบนิเวศอยู่ได้ พลังงานจะเป็นปัจจัยทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ดวงอาทิตย์ คือ แหล่งของพลังงานที่สำคัญที่สุดของระบบนิเวศพืชคือผู้ผลิตที่สามารถรับเอาพลังงานแสงอาทิตย์แล้วผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง เปลี่ยนรูปแบบของพลังงานเป็นพลังงานเคมี บางส่วนของพลังงานนี้พืชใช้เพื่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ บางส่วนถ่ายทอดไปยังสัตว์ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยกระบวนการบริโภคและบางส่วนเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานความร้อนที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะถูกคายออกมาสู่สิ่งแวดล้อม
2) สารเคมี สารเคมีเป็นองค์ประกอบที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตในระบบนิเวศมี 2 ชนิดที่สำคัญคือก) อินทรีย์วัตถุ (Organic Substances) เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และสารเคมีอื่น ๆที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ฯลฯหรือเรียกอีกอย่างว่า แหล่งธาตุอาหาร (Nutrient Pools)ข) อนินทรีย์วัตถุ (Inorganic Substances) เช่น น้ำ ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ฯลฯ
3) องค์ประกอบทางด้านลมฟ้าอากาศ เป็นสภาพทางกายภาพและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญต่อระบบนิเวศมาก สภาพทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ อุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น กระแสน้ำ สภาพความเป็นกรดเป็นด่าง ส่วนสภาพทางกายภาพ ได้แก่ มีเดียม และซับสเตรตัม (Medium and Substratum)
3.1) อุณหภูมิ มีผลต่อสิ่งมีชีวิตมาก แต่ละชนิดมีช่วงความทนต่อช่วงของอุณหภูมิต่างกัน สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสภาพที่ต่างกัน
3.2) กระแสน้ำ เป็นสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการมีชีวิตในระบบนิเวศน้ำไหล พบว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำไหลเชี่ยวจะต้องปรับตวให้เหมาะกับสภาพที่เป็นอยู่ เช่น การว่ายทวนน้ำของปลาไหลเพื่อไปยังต้นน้ำว่ายเกาะกลุ่ม เป็นเกลียวคล้ายเกลียวเชือกทวนกระแสน้ำขึ้นไป จึงสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ถ้าตัวใดหลุดจากกลุ่มจะถูกพัดไป ปากแม่น้ำ สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะไม่เคลื่อนที่เมื่อยู่ในบริเวณน้ำไหล
3.3) แสง เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิตพืชและสัตว์ โดยเฉพาะพืชที่ต้องใช้แสงสว่างเป็นพลังงานในการสังเคราะห์แสง เพื่อให้ได้ผลผลิตคือ พลังงานอาหาร
3.4) ความชื้น ปริมาณความชื้นมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ จัดเป็นค่าสัมพันธ์ พืชบางชนิดต้องการความชื้นสูงในการเจริญเติบโต
3.5) สภาพความเป็นกรดด่าง ในดินและน้ำมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณต่างๆ อินทรีย์ในแต่ละชนิดต้องการความเป็นกรดและด่างต่างกัน
3.6) มีเดียม สิ่งที่ล้อมรอบสิ่งมีชีวิต เช่น น้ำ ถือว่าเป็นตัวกลางของสัตว์น้ำ
3.7) ซับสเตรตัม บริเวณพื้นผิวที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ อาจเป็นของเหลว เช่น น้ำ หรือของแข็ง เช่น ฝาผนังหรือโขดหิน ซึ่งเป็นที่เกาะของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะปรับตัวให้เข้ากับพื้นผิวที่ตนอาศัย เช่น จิ้งจกมีเท้าแบนราบเพื่อเกาะเพดานได้
หน้าที่ในระบบนิเวศการที่มนุษย์ สัตว์ และพืช ดำรงชีวิตอยู่ ได้รับพลังงานและวัตถุธาตุอย่างต่อเนื่องกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งสัตว์และมนุษย์ไม่สามารถจะสร้างสารประกอบที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตได้โดยตรง อาศัยพืชเป็นตัวสร้างขึ้น จากกระบวนการที่เรียกว่า “Photosynthesis”เนื่องจากองค์ประกอบ (Structure) ที่มีหลากหลายชนิดในระบบนิเวศ ทำให้แต่ละชนิดต้องมีบทบาท (Niche) แตกต่างกันไป เกิดการทำงาน (Function) ตามกลุ่มหน้าที่ โดยแบ่งหน้าที่ได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มแร่ธาตุอาหาร (Nutrient Pool) ทำหน้าที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของพืชหรือผู้ผลิต โดยให้แร่ธาตุอาหารเพื่อนำไปใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
2) ผู้ผลิต (Producers) ทำหน้าที่ผลิตอาหารโดยได้รับแร่ธาตุสนับสนุนจากกลุ่มธาตุอาหาร เพื่อเป็นต้นทุนพลังงานในการทำกิจกรรม แล้วรับการสนับสนุนจากองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แสงแดด น้ำ นำมาสังเคราะห์แสงปรุงอาหาร เก็บสะสมไว้ในลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ
3) ผู้บริโภค (Consumers) ทำหน้าที่บริโภค ผู้ผลิตหรือบริโภคต่อเนื่องกันเองตามลำดับของการกิน เช่น สัตว์กินสัตว์จะกินสัตว์กินพืช ซึ่งไปกินพืชมาเป็นอาหารเพื่อนำอาหารเข้าสู่ร่างกายและแปรรูปเป็นพลังงานไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ แล้วขับถ่ายกากของเสียออกจากร่างกาย
4) ผู้ย่อยสลาย (Decomposers) ทำหน้าที่ย่อยสลาย ซึ่งในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ย่อยสลายคือผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กสุด ซึ่งสามารถย่อยสารอินทรีย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกากของเสียที่สัตว์หรือผู้บริโภคขับถ่ายออกมา หรือการที่ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคตาย หรือส่วยของอวัยวะบางส่วนของผู้ผลิต เช่น ใบไม้ที่ร่วงหล่น ส่วนของผู้บริโภคเช่น ขน หนัง เล็บ หรือซากพืชและสัตว์ที่เหลือจากการบริโภค ล้วนแล้วแต่ถูกย่อยสลายด้วย ผู้ย่อยสลายซึ่งส่วนใหญ่เป็น จุลินทรีย์ แบคทีเรียต่าง ๆ แล้วแปรสภาพส่วนที่ย่อยได้ซึ่งเป็นโมเลกุลขนาดเล็กไปเป็นธาตุอาหารให้แก่ผู้ผลิต สะสมในดิน, น้ำ, อากาศ แล้วแต่ระบบนิเวศนั้น ๆ ซึ่งอาหารส่วนหนึ่งที่ทำการย่อยสลายจะแบ่งปันไปใช้ในกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพของผู้ย่อยสลายเองด้วย ทั้งนี้การถ่ายทอดพลังงานที่เกิดจากการกินต่อเนื่องกันไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม จะเริ่มกระบวนการถ่ายทอดพลังงานจากพืชสเขียว (Producers) ไปสู่ผู้บริโภคขั้นต่าง ๆ ซึ่งทำให้พลังงานลดลงเรื่อย ๆ ตาม Trophic Level หรือลำดับขั้นของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยพลังงานจะลดลงทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนลำดับขั้นการบริโภคประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่เรียกว่า Law of Ten ซึ่งการลดลงเนื่องจากสูญเสียพลังงานออกไปในรูปของพลังงานความร้อนและการขับถ่ายของเสีย ดังแสดงในภาพที่ 2.7 สำหรับการถ่ายทอดพลังงานจากพืชไปสู่สัตว์กินพืชจะสูญเสียพลังงานไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจากสัตว์สู่สัตว์ที่กินสัตว์ จะสูญเสียประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยการกินต่อเนื่องจะทำได้สูงสุด 5 ลำดับขั้น (นับตั้งแต่ผู้ผลิตขึ้นไป) ซึ่งบางระบบนิเวศอาจมี Top Carnivores ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมนุษย์บนพื้นผิวที่ตนอาศัย เช่น จิ้งจกมีเท้าแบนราบเพื่อเกาะเพดานได้


ที่มา: YouTube

ความหมายและประเภทของระบบนิเวศ

A freshwater ecosystem. (Reproduced by permission of The Gale Group .)


ระบบนิเวศ (Ecosystem) คือ ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์และความกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันของสิ่งแวดล้อมทั้งหมดภายในบริเวณที่กำหนด มีการเคลื่อนย้ายของพลังงานที่สามารถจัดแบ่งได้ตามลำดับขั้น มีการแลกเปลี่ยนของสารอาหารในระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นวัฏจักรความหมายของระบบนิเวศOdum (1963) ให้นิยามว่า “ระบบนิเวศ (Ecosystems) หมายถึงหน่วยพื้นที่หนึ่งที่ประกอบด้วยสังคมของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ร่วมกัน”คำนิยามนี้เน้นให้เห็นความสำคัญ 3 ประเด็นคือ
1) หน่วยพื้นที่
2) สังคมของสิ่งมีชีวิต
3) การทำหน้าที่ร่วมกันหน่วยพื้นที่หนึ่ง
หมายถึง ระบบนั้นจะถูกจำกัดขอบเขตหรือขนาดจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ให้มีอาณาบริเวณเด่นชัด ก็เป็นระบบนิเวศได้ เช่น สระน้ำ ป่าไม้ ทะเลทราย ระบบเมือง ฯลฯสังคมของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม หมายถึง องค์ประกอบหรือโครงสร้างทั้งหมดที่อยู่ภายในพื้นที่หรือระบบนิเวศนั้น ๆ อาจเป็นสิ่งใด ๆ ก็ได้ ทั้งสิ่งมีชีวิตไม่มีชีวิต เป็นพิษไม่เป็นพิษ และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่รวมกันในระบบได้อย่างเหมาะสมตามธรรมชาติ คือมีชนิด ปริมาณ สัดส่วน การกระจายเป็นปกติ การทำหน้าที่ร่วมกัน หมายถึง องค์ประกอบทั้งหลายในระบบนิเวศนั้นต่างมีบทบาทหน้าที่ตนเอง สร้างความสัมพันธ์ที่จะอยู่รวมกันกับสิ่งต่าง ๆ ได้ อาจจะกระทำร่วมกันตั้งแต่สองสิ่งหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ และแสดงเอกลักษณ์ของระบบนั้น
ประเภทของระบบนิเวศขนาดของระบบนิเวศไม่ตายตัว แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ
1) ระบบนิเวศบนบกหรือระบบนิเวศภาคพื้นดิน (Terrestrial Ecosystems) รวมถึงอุณหภูมิ ความชื้น ลักษณะของดิน หมายถึงปัจจัยของสิ่งมีชีวิตจำกัดขีดความสามารถประกอบด้วย สิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ ที่อาศัยบนบกรวมทั้งนกและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สิ่งไม่มีชีวิตลักษณะทางกายภาพของอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น สภาพทางกายภาพของดิน พลังงาน สารวัตถุต่าง ๆ ระบบนิเวศภาคพื้นดินแยกย่อยโดยพิจารณาตามลักษณะชุมชนของพืช (Plant Communities) ที่มีโครงสร้างคล้ายกัน โดยพืชเหล่านี้ถูกกำหนดโดยลักษณะทางกายภาพ
2) ระบบนิเวศน้ำหรือระบบนิเวศภาคพื้นน้ำ (Aquatic Ecosystems) มีปริมาณออกซิเจน แสงแดด เป็นปัจจัยจำกัดขีดความ สามารถของสิ่งมีชีวิตในระบบออกซิเจนในบรรยากาศร่วมกับก๊าซอื่น แต่ในน้ำออกซิเจนปรากฏในรูปสารละลายปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนในน้ำจืดทั่วไป มีค่าเฉลี่ย ประมาณร้อยละ 0.0010 - (10 ส่วนใน 1 ล้านส่วน ; ppm)โดยน้ำหนักมีค่าน้อยกว่าน้ำหนักของออกซิเจนในอากาศที่มีปริมาณเท่ากันถึง 40 เท่าความแปรปรวนของออกซิเจนในน้ำขึ้นอยู่กับอิทธิพลการเพิ่มเข้าหรือลดออก เช่น ออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นจากการถ่ายเทกับบรรยากาศเบื้องต่ำ จากการสังเคราะห์ของพืชน้ำ การไหลของน้ำ เช่น น้ำ การไหลของน้ำ เช่น น้ำตก แก่งน้ำ เขื่อนออกซิเจนในน้ำลดลงจากกระบวนการหายใจของพืชสัตว์น้ำอุณหภูมิอบอุ่นทำให้ออกซิเจนละลายน้ำได้ยากช่วยส่งเสริมกระบวนการย่อยสลายเกิดการสูญเสียออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น หากสูญเสียออกซิเจนจนปริมาณสารละลายมีความเข้มข้นต่ำกว่า 3 - 5 ส่วนใน1ล้านส่วนสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตในพื้นน้ำหลายชนิดตายได้แสงอาทิตย์สามารถส่องผ่านพื้นน้ำลงไปในระดับความลึกประมาณ 30 เมตร การสังเคราะห์แสงของพืชน้ำจึงกระทำได้จำกัดบริเวณ ระบบนิเวศน้ำ ใช้ค่าความเค็มของน้ำ (Salinity) มีหน่วยวัดเป็น ppt. เป็นตัวกำหนดการแบ่งเขตแบ่งออกเป็นระบบใหญ่ ๆ ได้อีก 3 ระบบ คือ

- ระบบนิเวศน้ำจืด (Fresh Water Ecosystems) มีค่าเป็น 0 ppt.

- ระบบนิเวศน้ำกร่อย (Estuarine Ecosystems) มีค่าตั้งแต่ 1-10 ppt.

- ระบบนิเวศน้ำเค็ม (Marine Ecosystems) มีค่าตั้งแต่ 10 ppt. ขึ้นไป

ความสำคัญของนิเวศวิทยา

ที่มา: http://www.habarbadi.com/classes/environment/environment_ecology.html


นิเวศวิทยา เป็นสาขาวิชาหนึ่งของหลักชีววิทยา ซึ่งสามารถอธิบายขอบเขตของนิเวศวิทยาในชีววิทยาได้วิวัฒนาการของการศึกษานิเวศวิทยา เน้นหนักความสำคัญไปสู่มนุษย์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมต่อสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทต่อมนุษย์ในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ นักชีววิทยาจึงได้กำหนดขอบข่ายศาสตร์ทางนิเวศวิทยา โดยอาศัยหลักการของชีววิทยาสเปคตรัม (Biological Spectrum) หลักการทางชีววิทยานั้น จะทำการศึกษา สิ่งมีชีวิตตั้งแต่ระดับยีนส์และโครโมโซม จนไปถึงระดับอวัยวะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ประชากร สังคมของสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศทุกสิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ส่วนนิเวศวิทยาจะศึกษาในส่วนของสิ่งมีชิวตที่อยู่รวมกลุ่มกันเป็นประชากร สังคมของสิ่งมีชีวิตระบบนิเวศการศึกษาทางนิเวศวิทยา มุ่งหวังในเป้าหมายเรื่องคุณค่าทางนิเวศวิทยา (Ecological Values) ซึ่งจะเป็นพื้นฐาน ความเข้าใจของการศึกษาสิ่งแวดล้อมต่อไป